Archive

โรคและวิธีป้องกัน

มะเร็งลำไส้

ถาม-ตอบ การป้องกันและการรักษา โรคมะเร็งลำไส้

สำหรับใครที่สงสัยเรื่อง โรคมะเร็งลำไส้ วันนี้เรารวบรวมคำถามคำตอบยอดฮิตเกี่ยวกับเรื่อง โรคมะเร็งลำไส้ มาบอกกัน

 เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรามีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้?

ทุก ๆ คน มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ เกิดขึ้นกับอัตราเสี่ยงหลาย ๆ อย่าง คุณมีอัตราเสี่ยงเท่ากับคนทั่วไป ถ้าคุณมีอายุ 50 ปี หรือมากกว่าและไม่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่น

 คุณจะมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้นในการเป็นมะเร็งลำไส้ ถ้าคุณ…

 มีประวัติส่วนตัวเป็นมะเร็งลำไส้ หรือมีติ่งเนื้อ Adenomatous polyps

 มีประวัติครอบครัว โดย (บิดา มารดา พี่ชาย น้องสาว) คนใดคนหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งคนเป็นมะเร็งลำไส้ หรือมีติ่งเนื้อ ชนิด Adenomatous polyps

 มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งหลายชนิด ที่เกี่ยวกับเต้านม รังไข่ มดลูก และอวัยวะอื่น ๆ

 มีประวัติส่วนตัวเป็นลำไส้อักเสบ เช่น Ulcerative colitis หรือ Crohn’s disease

 มีกรรมพันธุ์บางอย่างผิดปกติ ที่จะทำให้คุณมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ อย่างไรก็ตามไม่พบบ่อยนัก

  ปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มการเกิดมะเร็งลำไส้

 การกินอาหารที่มีเส้นใย (fiber) น้อย แต่มีไขมันมาก

 การนั่งอยู่กับที่ไม่ค่อยมีการขยับไปมา (Sedentary lifestyle)

  ผู้หญิงกับผู้ชาย มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ต่างกันหรือไม่?

เพศชาย หรือเพศหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้เท่า ๆ กัน

 อาการแสดงของมะเร็งลำไส้เป็นอย่างไร?

มะเร็งลำไส้เริ่มต้นโดยคนไข้อาจไม่มีอาการเลย อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นได้สักระยะหนึ่งจะเริ่มมีอาการแสดง ดังนี้

 มีเลือดออกจากทวารหนัก

 มีเลือดในอุจจาระ (แดงสดหรือดำ)

 มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนครั้งในการถ่ายอุจจาระไปจากเดิม และโดยเฉพาะรูปร่างของอุจจาระจะเล็กลง

 มีอาการปวดที่บริเวณท้องช่วงล่าง

 มีอาการปวดจากท้องอืดบ่อยขึ้น

 มีความไม่สะดวก หรือรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระโดยที่ปกติไม่เป็น

 น้ำหนักลดเองโดยไม่ได้ต้องการลดน้ำหนัก

 มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

  การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) ทำอย่างไร

วิธีการนี้จะตรวจลำไส้ใหญ่ของคนไข้ทั้งหมด ซึ่งจะทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านทางเดินอาหาร แพทย์จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Colonoscope เป็นท่อยาว, เบา, โค้งไปมาได้ ตรวจดูลำไส้ใหญ่ทั้งหมด เพื่อหามะเร็งและติ่งเนื้อ

การเตรียมลำไส้ โดยให้ยาเพื่อให้ลำไส้ไม่มีอุจจาระเหลือ เป็นสิ่งจำเป็นก่อนการส่องกล้องตรวจ ตัวกล้องโคโลโนสโคปจะมีกล้องถ่ายรูปที่ปลายส่งสัญญาณมาที่โทรทัศน์ เพื่อแสดงภาพ ข้อดีของกล้องโคโลโนสโคป คือ เมื่อส่องพบติ่งเนื้อจะสามารถตัดติ่งเนื้อออกมาทั้งหมด โดยการใส่เครื่องมือผ่านตัวกล้องเข้าไปตัด และเอาติ่งเนื้อนั้นส่งตรวจทางพยาธิเพื่อหามะเร็งลำไส้ได้ การส่องกล้องโดยวิธีนี้ แพทย์จะให้ยานอนหลับกับคนไข้แล้วใช้เวลาตรวจประมาณ 30 ถึง 60 นาที ถ้ามีการตัดชิ้นเนื้ออาจมีเลือดจำนวนเล็กน้อยปนในอุจจาระได้ 2-3 วัน

 การสวนแป้งและ x-ray ตรวจลำไส้ใหญ่ (Barium enema) ทำได้อย่างไร

วิธีการนี้เป็นการใส่แป้งเข้าไปในลำไส้ใหญ่ทั้งหมด แล้ว x-ray ตรวจ อาจใช้แทนการตรวจโคโลโนสโคป หลังจากเตรียมลำไส้ให้สะอาดจะมีการใส่ท่อนิ่ม ๆ เข้าทางทวารหนักและใส่น้ำเรียกว่า การ x-ray จะเริ่มทำเมื่อ barium ไหลไปตามลำไส้ และขอบเขตของก้อนติ่งเนื้อ หรือความผิดปกติอื่น ๆ คนไข้อาจมีความรู้สึกปวดและอยากจะถ่ายขณะที่ทำการตรวจ วิธีการนี้จะใช้แทนการทำโคโลโนสโคปในคนไข้ที่ไม่เหมาะสมในการทำโคโลโนสโคป และจะทำทุก 5-10 ปี

 จะเตรียมตัวอย่างไรในการตรวจหามะเร็งลำไส้?

การเตรียมตัวตรวจที่ดี จะช่วยให้คุณมั่นใจว่าการตรวจของคุณได้ผลแม่นยำ โดยแพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัว ก่อนการตรวจทุกครั้งควรบอกแพทย์ถึงยาที่คุณกำลังกินประจำ เพราะยาบางตัวจะมีผลต่อการตรวจได้

 ถ้าตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้จะทำอย่างไร?

ถ้าตรวจพบมะเร็งลำไส้ การผ่าตัดเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเอามะเร็งออก ชนิดของการผ่าตัดและการติดตามการรักษาขึ้นกับขนาด และการกระจายของมะเร็ง

  ทำอย่างไรจึงจะป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้?

เป็นการยากที่จะกำจัดและป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งลำไส้ทั้งหมด ดังนั้นการตรวจหามะเร็งลำไส้ตั้งแต่ต้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่อย่างไรก็ตามมีหลักฐานในการลดการเกิดมะเร็งลำไส้ ดังนี้

 กินอาหารที่มีเส้นใยมาก โดยเฉพาะผักและผลไม้

 หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว

ปวดท้อง

มะเร็งตับอ่อน โรคร้ายที่ใครก็ไม่อยากเจอ (Momypedia)

ข่าวการเสียชีวิตของ Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Apple และผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นอัจฉริยะแห่งโลกยุคใหม่ด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนทำให้คนทั้งโลกตกใจไม่น้อยค่ะเพราะเราได้สูญเสียคนเก่ง ๆ ไปอีกคน และเมื่อมองย้อนกลับมาที่โรคซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเขา ก็น่าตกใจไม่น้อยเช่นกัน เพราะในปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตเพราะมะเร็งตับอ่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ก่อนหน้านี้มีคนดังที่ต้องพ่ายแพ้ให้กับมะเร็งตับอ่อนไปแล้ว อย่าง Patrick Swayze พระเอกจากหนังเรื่อง Ghost รวมถึง Randy Pausch อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ Carnegie Mellon University เจ้าของเรื่องราวในหนังสือชื่อดัง The Last Lecture ที่ทำให้หลายคนร้องไห้มาแล้ว วันนี้เรามาทำความรู้จักกับมะเร็งตับอ่อนกันค่ะว่าร้ายแรงอย่างไร

ตับอ่อนคืออะไร

ตับอ่อนเป็นอวัยวะภายในที่อยู่บริเวณท้องส่วนบนและอยู่หลังกระเพาะอาหาร ตับอ่อนประกอบไปด้วย 2 ต่อมหลักคือ

 1. ต่อมมีท่อ ทำหน้าที่สร้างเอ็นไซม์ เพื่อย่อยไขมันและโปรตีนในอาหาร

 2. ต่อมไร้ท่อ ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน เช่น อินซูลิน กลูคากอน เป็นต้น

มะเร็งตับอ่อนเกิดได้อย่างไร

มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer) เป็นมะเร็งที่ยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ แต่ก็มีหลายปัจจัยที่กระตุ้น ได้แก่

 1. ในคนที่สูบบุหรี่จัด มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งตับอ่อน

 2. ในคนที่มีครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อน มีโอกาสเป็นมะเร็งตับอ่อนได้สูง

 3. ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน มีปัจจัยเสี่ยงสูง

 4. โรคตับอ่อน อักเสบเรื้อรัง หรือกินอาหารไขมันสูงเป็นประจำ โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์

 5. เนื้องอกที่เกิดจากต่อมมีท่อและไร้ท่อ

 อาการ

มะเร็งตับอ่อนมักเกิดขึ้นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า และจะพบมากในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 40-70 ปี ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งตับอ่อน และมักจะตรวจพบเมื่อมะเร็งลุกลามหรือรุนแรงมากแล้ว แต่อาการสังเกตเบื้องต้นมีดังนี้

 ดีซ่าน ตัวเหลืองตาเหลือง

 อาการปวดบริเวณส่วนบนของช่องท้องและร้าวไปหลัง ปวดท้องรวมกับปวดหลัง

 เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ

 อ่อนเพลียกว่าปกติ

 ผู้ป่วยบางคนอุจจาระลักษณะมีไขมันปนมาก

การตรวจและระยะของมะเร็ง

การตรวจหามะเร็งตับอ่อนค่อนข้างยาก ซึ่งมักจะพบเมื่อมะเร็งเริ่มลุกลามมากแล้ว วิธีที่สามารถตรวจได้ดีที่สุดคือ การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจหามะเร็ง แต่นั้นก็ต้องอยู่ในการพิจารณาของแพทย์และอาการที่เกิดขึ้น มะเร็งตับอ่อนแบ่งออกเป็น 4 ระยะ

 ระยะที่ 1  ก้อนมะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะในตับอ่อน

 ระยะที่ 2  ก้อนมะเร็งลุกลามออกนอกตับอ่อน หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ติดกับตับอ่อน

 ระยะที่ 3  ก้อนมะเร็งลุกลามเข้าเส้นเลือดใหญ่ในส่วนของตับอ่อน

 ระยะที่ 4  โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด (มักแพร่กระจายเข้าตับ ปอด และกระดูก) หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง นอกช่องท้องซึ่งอยู่ไกลจากตัวตับอ่อน

การรักษา

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งตับอ่อนจนกว่าจะได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจน และก็มักจะพบเมื่อลุกลามมากเกินกว่าจะป้องกันหรือรักษาให้หายได้ แต่สำหรับผู้ที่สามารถตรวจพบได้ไวก็สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด วิธีรักษามะเร็งตับอ่อนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

 1. กลุ่มที่ผ่าตัด ใช้ได้ในกรณีที่ตรวจพบในระยะแรกของโรค และแพทย์ลงความเห็นว่าสามารถผ่าตัดได้ ซึ่งนอกจากตัดตับอ่อนบางส่วนออก หรือตัดออกทิ้งทั้งหมดแล้ว อาจจะต้องตัดอวัยวะส่วนอื่นออกด้วย เพื่อป้องกันเชื้อที่อาจจะยังมีและลุมลาม เช่น ลำไส้เล็กส่วนต้น ท่อน้ำดี กระเพาะอาหารบางส่วน

 2. กลุ่มที่ผ่าตัดไม่ได้ ใช้ในกรณีที่มะเร็งลุกลามมากแล้วซึ่งจะเป็นการรักษาและประคองอาการเท่านั้น เช่น การให้เคมีบำบัด และการฉายรังสีเพื่อยับยั้งการขยายตัวของมะเร็ง หรือการผ่าตัดเพื่อทำทางเบี่ยงน้ำดีเพื่อ ลดอาการดีซ่าน หรือทางเบี่ยงให้กระเพาะอาหารเพื่อลดการอุดตันของทางเดินอาหารยังเป็น วิธีการที่บรรเทาอาการผู้ป่วยได้ดีที่สุด

มะเร็งตับอ่อนเป็นโรคที่พบได้น้อยค่ะ แต่เมื่อพบแล้วก็มักจะรุนแรงมากและเสียชีวิตแทบทุกราย ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพให้พบโรคมะเร็งตับอ่อนตั้งแต่ระยะเริ่มเป็นโรค ซึ่งเราเองนี่ล่ะค่ะที่ต้องสำรวจอาการเริ่มแรกที่เกิดกับตัวเอง และเมื่อสงสัยว่าอยู่ในกลุ่มอาการดังกล่าวควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิฉัย จะได้ป้องกันและเตรียมตัวรักษากันได้ทันนะคะ

ไส้เลื่อน (หมอชาวบ้าน)
คอลัมน์ สารานุกรมทันโรค โดย นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

ไส้เลื่อน หมายถึงภาวะที่มีลำไส้บางส่วนไหลเลื่อนออกมาตุงอยู่ที่ผนังหน้าท้อง ทำให้เห็นเป็นก้อนบวมตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้อง

ไส้เลื่อน มีอยู่หลายชนิด ซึ่งจะมีอาการแสดงภาวะแทรกซ้อน และการรักษาแตกต่างกันไป ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น

ไส้เลื่อน ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นก้อนตุงตรงผนังหน้าท้องหรือขาหนีบ ซึ่งจะบวมๆ ยุบๆ (โผล่ๆ ผลุบๆ) มักจะไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด แต่ถ้าปล่อยให้เกิดการติดคา ไม่ยุบก็อาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้

ชื่อภาษาไทย : ไส้เลื่อน
ชื่อภาษาอังกฤษ : Hernia

สาเหตุของ ไส้เลื่อน

ไส้เลื่อน เกิดจากผนังหน้าท้องบางจุดมีความอ่อนแอ (หย่อน) ผิดปกติ ส่วนมากเป็นความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด ทำให้ลำไส้ที่อยู่ข้างใต้ไหลเลื่อนทะลักเข้าไปในบริเวณนั้น เห็นเป็นก้อนตุง ส่วนน้อยที่เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง (เช่น แผลผ่าตัดที่หน้าท้อง)

ไส้เลื่อนมี อยู่หลายชนิด ที่พบบ่อยได้แก่

 ไส้เลื่อน ที่สะดือ (inguinal hernia) ผู้ป่วยจะมีหน้าท้องที่บริเวณขาหนีบอ่อนแอผิดปกติมาแต่กำเนิด แต่จะปรากฏอาการไส้เลื่อนเมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มสาว หรือวัยกลางคน หรือเมื่อเป็นโรคไอเรื้อรัง เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมปอดโป่งพอง ไส้เลื่อน ชนิดนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้

 ไส้เลื่อน ที่เกิดหลังผ่าตัด (incisional hernia) เป็น ไส้เลื่อน ที่เกิดหลังได้รับการผ่าตัดช่องท้อง เมื่อแผลหายแล้ว ผนังหน้าท้องในบริเวณผ่าตัด เกิดหย่อนกว่าปกติ ทำให้ลำไส้ไหลทะลักเป็นก้อนโป่งที่บริเวณนั้น

อาการของ ไส้เลื่อน

 สะดือจุ่น ทารกจะมีอาการสะดือจุ่น หรือสะดือโป่งเวลาร้องไห้ ซึ่งจะเป็นมาแต่แรกเกิด โดยไม่มีความผิดปกติอื่นๆ

 ไส้เลื่อน ที่ขาหนีบ ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นมีก้อนตุงที่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ ซึ่งจะเห็นชัดขณะลุกขึ้นยืน หรือเวลายกของหนัก ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย เวลานอนหงายก้อนจะยุบหายไป เมื่อคลำดูจะพบว่าก้อนมีลักษณะนุ่มๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด

 อาการมีก้อนตุงโผล่ๆ ผลุบๆ แบบนี้มักจะเป็นอยู่นานเป็นแรมปี สิบๆ ปีหรือตลอดชีวิต แต่ถ้ามีภาวะ ไส้เลื่อน ติดคาอยู่ที่ผนังหน้าท้อง ก็จะกลายเป็นก้อนตุงไม่ยุบหาย และจะมีอาการเจ็บปวดที่ท้อง ปวดท้องอาเจียนตามมา ซึ่งถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของไส้เลื่อน

 ไส้เลื่อน ที่เกิดหลังผ่าตัด ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยไม่มีก้อนตุงที่หน้าท้อง แต่หลังผ่าตัด (อาจนานเป็นแรมเดือน หรือแรมปี ต่อมาก็พบว่าบริเวณใกล้ๆ รอบแผลผ่าตัด จะมีก้อนตุงขนาดใหญ่ ไม่มีอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะจะเห็นชัดในท่ายืนหรือนั่ง แต่เวลานอนก้อนจะเล็กลงหรือยุบลง อาการจะเป็นเรื้อรังจนกว่าจะได้รับการผ่าตัดแก้ไข

การแยกโรค ไส้เลื่อน

ก้อนที่บริเวณหน้าท้อง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

 ก้อนฝี ซึ่งจะมีอาการปวดบวมแดงร้อน แตะถูกเจ็บ และไม่ยุบหายเวลานอนหงาย

 ก้อนเนื้องอก มักจะเป็นก้อนแข็ง ไม่ยุบ แตะถูกไม่เจ็บ

ส่วนก้อนที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะ นอกจากก้อนฝีและก้อนเนื้องอกแล้ว ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

 โรคฝีมะม่วง ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะบวมแดงร้อน

  ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ถ้าเป็นเฉียบพลันจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ปวด แดงร้อน ถ้าเป็นเรื้อรังมักจะเป็นก้อนแข็ง ไม่เจ็บ ไม่ยุบ

 ถุงน้ำทุ่งอัณฑะหรือกล่อนน้ำ (hydrocele) มีลักษณะเป็นก้อนนุ่ม คล้ายลูกโป่งใส่น้ำ ไม่เจ็บ ไม่ยุบเวลาใช้ไฟฉายส่องจะเห็นโปร่งใส มักพบในเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด ส่วนน้อยอาจพบตอนโตแล้ว (ภายหลังได้รับบาดเจ็บหรือเกิดการอักเสบที่ถุงอัณฑะ)

 อัณฑะบิดตัว (testicular torsion) เกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติของสายรั้งอัณฑะ (spermatic cord) และเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอัณฑะ ทำให้ถุงอัณฑะหลวมกว่าปกติ อัณฑะสามารถบิดหมุนรอบตัวเมื่ออายุมากขึ้นได้ มีอาการปวดอัณฑะรุนแรง ตรวจพบเป็นก้อนบวม แตะถูกเจ็บ ไม่ยุบ

การวินิจฉัยโรค ไส้เลื่อน

แพทย์จะวินิจฉัยโรค ไส้เลื่อน จากอาการแสดงและสิ่งตรวจพบ ได้แก่ อาการมีก้อนตุงโผล่ๆ ผลุบๆ ก้อนมีลักษณะนุ่มๆ หยุ่นๆ ไม่เจ็บ

ในรายที่ไม่แน่ใจว่าเป็น ไส้เลื่อน  แพทย์อาจส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เป็นต้น

การดูแลตนเอง

ถ้าพบว่ามีก้อนตุงที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้อง รวมทั้งบริเวณขาหนีบและอัณฑะ ก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

แต่ถ้าก้อนนั้นมีลักษณะแข็ง โตขึ้น แดงร้อนหรือเจ็บปวด หรือมีอาการปวดท้อง หรืออาเจียนร่วมด้วย ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

ในกรณีที่เป็น ไส้เลื่อน แพทย์อาจแนะนำให้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นไส้เลื่อนขนาดใหญ่ หรือขึ้นตรงบริเวณขาหนีบถุงอัณฑะ หลังจากแผลผ่าตัดหายดีแล้ว ก็สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เช่นคนปกติทั่วไป