Archive

ประวัติบุคคลสำคัญ

คาร์ล แลนสไตเนอร์ เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1868 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในครอบครัวนักกฎหมาย และนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น พออายุได้ 6 ขวบบิดาก็เสียชีวิต

คาร์ลมีความสนใจในทางการแพทย์มาตั้งแต่ต้น เขาได้เข้าศึกษาวิชาแพทยศาสตร์จนสำเร็จเป็นนายแพทย์เมื่อ ปี ค.ศ. 1891 ต่อจากนั้นก็ทำงานทางด้านวิจัยและค้นคว้าทางการแพทย์เกี่ยวกับแบคทีเรียและ พยาธิวิทยาในโรงพยาบาลที่กรุงเวียนนา และเริ่มสนใจเรื่องรากฐานของภูมิคุ้มกันและพยาธิวิทยา

ตลอดระยะเวลาร่วม 20 ปีที่เขาทำการค้นคว้าวิจัยนั้น เขาได้เขียนตำราและเอกสารทางการแพทย์ออกมามากมาย ซึ่งส่วนใหญ่มีประโยชน์และมีความสำคัญทางวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นอันมาก อาทิเช่น ลักษณะของเนื้อเยื่อที่เป็นโรค เรื่องภูมิคุ้มกันโรคของร่างกาย โรคเลือดในปัสสาวะ สาเหตุของโรคไขสันหลังอักเสบและภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อโรคนี้ และการค้นพบที่ทำให้เขาได้รับชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ การค้นพบชนิดของหมู่เลือดในคน

ในสมัยนั้นการให้เลือดแก่ผู้ป่วยยังไม่ค่อยได้รับผลสำเร็จนัก เพราะเลือดที่ให้มักตกตะกอนในสายเลือดของผู้ป่วย และเม็ดเลือดมักจะแตก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการช็อค เป็นดีซ่าน คาร์ลให้ข้ออธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะเม็ดเลือดในคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน เป็นสาเหตุให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างเม็ดเลือดที่ต่างชนิดกันและเกิดการตก ตะกอนขึ้น

ในปี ค.ศ. 1909 เขาได้ตีพิมพ์เอกสารแสดงให้เห็นว่าเลือดของมนุษย์สามารถแบ่งออกได้เป็นหลาย ชนิดคือ เอ บี เอบี และโอ และได้ชี้แจงว่าการถ่ายเลือดจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งที่มีกลุ่ม เลือดเดียวกัน เลือดจะไม่เกิดปฏิกิริยาตกตะกอน นอกจากว่าบุคคลทั้งสองจะมีเลือดคนละกลุ่ม ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมหาศาล

คาร์ล แลนสไตเนอร์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1943 ด้วยโรคหัวใจ รวมอายุได้ 75 ปี

จูเลียส วากเนอร์-จอเร็กก์ เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ปี ค.ศ. 1857 ที่เมืองเวลส์ ประเทศออสเตรีย ได้เข้ารับการศึกษาที่สถาบันพยาธิวิทยา จนได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ในปี ค.ศ. 1880

งานชิ้นสำคัญที่จูเลียส วากเนอร์-จอเร็กก์ ศึกษาค้นคว้าอยู่ตลอดชีวิตก็คือการรักษาโรคจิต โดยการชักนำให้เกิดเป็นไข้ในปี ค.ศ. 1917 เขาลองเพาะเชื้อไข้มาลาเรีย และพิสูจน์ได้ว่าได้รับผลสำเร็จในการรักษาอาการอัมพาต ชนิดเดเมนเทียพาราไลติกา (dementia paralytica) โดยการเอาเลือดจากผู้ป่วยเป็นไข้มาลาเรียไปฉีดให้แก่ผู้ป่วยเป็นอัมพาตเก้า คน ทั้งเก้าคนเป็นไข้มาลาเรีย แต่อาการอัมพาตดีขึ้น อีกสามคนหายขาด การค้นพบนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ. 1927

จูเลียส วากเนอร์-จอเร็กก์ ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 27 กันยายน ปี ค.ศ. 1930 รวมอายุได้ 73ปี

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)

หลังจากที่เยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่1 ประเทศทั้งประเทศอยู่ในภาวะของความยุ่งเหยิง เปลี่ยนการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐ ต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนที่พ้นวิสัยจะชำระได้ การลุกฮือของคอมมิวนิสต์ “ชปาตาคุส (Spatacus)” จลาจลทั่วประเทศ ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล เงินเฟ้ออย่างหนัก สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้คนเยอรมันร้องหาผู้ที่จะทำให้ประเทศของตนกลับไปรุ่งเรืองอีกครั้งดังสมัยอาณาจักรที่ 2

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์นั้นเดิมไม่ใช่ประชาชนเยอรมนีแต่เป็นออสเตรีย ตอนเด็กใฝ่ฝันจะเป็นศิลปิน แต่สอบเข้าวิทยาลัยศิลปะไม่ได้ เขาเป็นคนที่ไม่มีการศึกษา ช่วงสงครามโลกครั้งที่1 เขาเป็นนายสิบกองทัพบกออสเตรีย หลังสงครามออสเตรียแพ้เช่นเดียวกับเยอรมนี เขาจึงมุ่งหน้าไปแสวงหาโอกาสของชีวิตที่เมืองมึนเช่น (Munchen; หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า Munich) เยอรมนี

ในปี ค.ศ. 1918 ฮิตเลอร์ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเล็กๆพรรคหนึ่งด้วยเหตุผลง่ายๆว่ามัน “เข้าท่า” ซึ่งต่อมาเขาจะทำให้มันยิ่งใหญ่ นั่นคือพรรคสังคมชาตินิยมกรรมาชีพเยอรมัน (National sozialistische Deutsche Abeiterpartei -NSDAP) หรือพรรคนาซีนั่นเอง (Nazi)

ด้วยความสามารถในการพูดโน้มน้าวจิตใจคนและนโยบายของพรรคที่รุนแรงและเด็ดขาด เขาจึงได้รับความนิยมมากจากประชาชนในมึนเช่น เคยพยายามโค่นล้มรัฐบาลกลางที่แบร์ลีน (Berlin) แต่ไม่สำเร็จ และถูกจำคุกอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อพ้นโทษ เขาได้หาเสียงโดยใช้นโยบายก้าวร้าวกับชาวบ้านเยอรมันซึ่งเป็นคนทั่วไปในสังคมที่ไม่พอใจสภาพสังคมที่ไร้ระเบียบและความมั่นคง จนกระทั่งในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง พรรคนาซีได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและขยายความนิยมไปทั่วประเทศด้วยระยะเวลาอันสั้น

หลังวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ.1932 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งครั้งสำคัญของพรรคนาซี เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้พรรคนาซีได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในสภาของจักรวรรดิ เป็นจำนวน37.8% ขณะนั้นประธานาธิบดีของประเทศ คือ จอมพล เพาล ฟอน ฮินเด็นบวร์ก (Paul von Hindenburg) ผู้เป็นวีรบุรษจากสงครามครั้งก่อนได้แต่งตั้งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี และท้ายสุดในปี ค.ศ.1934 ประธานาธิบดีฮินเด็นบวร์กถึงแก่อสัญกรรม ฮิตเลอร์จึงกลายมาเป็นประธานาธิบดีของประเทศ

ตำแหน่งประธานาธิบดีไม่ใช่จุดสูงสุดของฮิตเลอร์ ด้วยอำนาจของ มาตรา 48 รัฐธรรมนูญไวมาร์ (Weimarer Verfassung) ที่ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีระงับการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว และโอนอำนาจนิติบัญญัติและบริหารมาไว้ที่ตัวประธานาธิบดีแต่เพียงผู้เดียว หากเกิดภาวะวิกฤติในประเทศ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่วางหลักการที่ขัดต่อหลักแบ่งแยกอำนาจและสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง ฮิตเลอร์ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในขณะนั้นได้อาศัยช่องทางของบทบัญญัติดังกล่าวยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญและแต่งตั้งตัวเองเป็น “ท่านผู้นำ (Führer)” แห่งอาณาจักร (เยอรมนี) ที่ 3 (Das 3.Reich) โดยอ้างเหตุจากสถานการณ์ไม่สงบต่างๆในประเทศ และเหตุที่พรรคคอมมิวนิสต์ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น

เมื่อเป็นท่านผู้นำแล้ว พวกที่ได้รับผลกระทบจากนาซีมากที่สุดคงหนีไม่พ้นชาวยิวและพวกคอมมิวนิสต์ สำหรับชาวยิวนั้นเป็นที่เข้าใจกันดีว่าเป็นผู้มั่งคั่งในสังคม ควบคุมเศรษฐกิจของชาติ ขณะที่คนเยอรมันยากจนไม่มีอะไรจะกิน ทว่าพวกยิวมีทั้งทองและอัญมณี ส่วนพวกคอมมิวนิสต์นั้น เป็นที่หวาดกลัวของชาวเยอรมันมาก เพราะเห็นตัวอย่างจากการปฏิวัติอันนองเลือดในสหภาพโซเวียต คอมมิวนิสต์นั้นถูกปราบปรามอย่างสิ้นเชิงหลังจากการป้ายความผิดโดยพวกนาซีว่าเป็นพวกวางเพลิงเผารัฐสภา แต่พวกยิวนั้นถูกทำลายล้างไปจนกระทั่งฮิตเลอร์หมดอำนาจหลังจากเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่2

สิ่งที่พวกยิวได้รับจากการทำลายล้างของฮิตเลอร์นั้นมีมากมายเหลือคณานับ เช่น การขับไล่ชาวยิวออกไปจากบ้านแล้วส่งไปอยู่ในสลัม ยึดกิจการของยิวแล้วเอาไปให้ชาวเยอรมัน มีการปลุกระดมให้ชาวบ้านไปเผาทำลายร้านค้าของพวกยิว ทหารหรือชาวบ้านสามารถทำร้ายร่างกาย ข่มขืนกระทำชำเรา หรือฆ่าคนยิวได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หนักกว่านั้นคือเมื่อสงครามเริ่มขึ้น พวกยิวจะถูกส่งตัวไปค่ายกักกันซึ่งมีหลายสิบแห่งนอกประเทศเยอรมนีเพื่อทำงานหนักเยี่ยงทาส คนที่ทำงานไม่ได้ก็จะถูกฆ่า หรือถึงแม้จะทำงานได้ก็ยังมีการคัดเลือกไปฆ่าอีกเช่นกัน ทุกที่ที่ทหารเยอรมันไปถึง ที่เหล่านั้นก็จะกลายเป็นนรกของยิว จนท้ายสุดเมื่อสงครามยุติ คนยิวถูกฆ่าไปกว่า6ล้านคน ซึ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าพวกนาซีสามารถปลูกระดมให้คนเยอรมันเปลี่ยนทัศนคติให้เคียดแค้นคนยิวและลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกยิวลงเพียงผักปลาที่ไร้ค่าอะไรเลย

ส่วนผู้ที่รักความเป็นธรรมและลุกขึ้นมาต่อต้านการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐนั้น จะถูกประณามโดยฝูงชนจำนวนมากที่ถูกฮิตเลอร์ปลุกปั่นและปิดบังความจริง พวกองค์กรที่เป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจของรัฐ อาทิ SS (Schutz Straffel) ซึ่งเป็นกองกำลังสมาชิกพรรคนาซีติดอาวุธ หรือพวกตำรวจลับ Gestapo (Geheimer Staatpolizei) จะตามฆ่าและทำลายล้างผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับท่านผู้นำ ประเทศเยอรมนีในยุคของฮิตเลอร์จึงเป็นอาณาจักรแห่งความกลัวอย่างแท้จริง

สิ่งที่ฮิตเลอร์ทำความประทับใจกับชาวเยอรมัน จนชาวเยอรมันหลงเชื่อ ทึ่ง และประทับใจในตัวฮิตเลอร์จนกระทั่งเป็นม่านหมอกบังตาชาวเยอรมันเองไม่ให้เห็นความจริงอันโหดร้ายที่นาซีทำกับประเทศ คือ การแก้ไขปัญหาคนว่างงาน สร้างทางหลวง(Autobahn) ทั่วประเทศ ตั้งโรงงานรถโฟล์กสวาเก้น (Volkswagen) ซึ่งแปลว่ายานยนต์ของประชาชน และขายให้ประชาชนในราคาถูก สร้างอาคารที่อยู่อาศัยราคาถูกสำหรับประชาชน (Wohnungbau) และนโยบายอื่นๆที่มีลักษณะเอื้ออาทร และที่เด่นที่สุด คือ การยกเลิกจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแก่ประเทศพันธมิตร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น “นโยบายประชานิยม”

สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในเยอรมนีสมัยฮิตเลอร์เรืองอำนาจล้วนเป็นสิ่งที่อันตรายและมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ทุกประเทศไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ฮิตเลอร์นั้นเป็นผู้นำที่มาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญซึ่งนั่นคือตามอำนาจและความชอบธรรมนั่นเอง แต่เมื่อฮิตเลอร์เข้าสู่อำนาจแล้วกลับใช้อำนาจที่ได้มาอย่างถูกต้องไปในทางที่ผิด จนทำให้ชาติเข้าสู่สงครามและล้มละลายในที่สุดทำให้ต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยจึงควรจับตาไม่ให้คนอย่างฮิตเลอร์ปรากฏตัวขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งจนทำความสูญเสียให้แก่ประเทศเหล่านั้นจนยากจะเยียวยา

เยอรมนีไม่ได้มีเพียงนาซีหรือฮิตเลอร์ซึ่งเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา แต่ยังมีสิ่งดีๆอีกมากมายที่เราสามารถศึกษาและนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเป็นชาติที่มีนักดนตรีคลาสสิกมากที่สุดในโลกความเป็นระเบียบวินัยของชาติซึ่งสะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ กฎหมาย หรือนิสัยของประชาชน หรือการผ่านความยากลำบากจนกระทั่งฝ่าฟันไปได้หลายครั้งในประวัติศาสตร์ เช่น การรวมชาติในปี ค.ศ.1990 ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกที่รวมคนชาติเดียวกันแต่ถูกแบ่งแยกทางลัทธิระหว่างประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์โดยไม่เสียเลือดเนื้อ

 

พระพรหมังคลาจารย์ หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปคือ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ  เจ้าอาวาส วัดชลประทานรังสฤษฏ์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2454 (ตรงกับรัชกาลที่ 6) ตลอดชีวิตสมณเพศ หลวงพ่อปัญญาสอนให้เข้าถึงถึงธรรมโดยใช้ปัญญาพิจารณา และเทศนาต่อต้านมารร้ายที่หากินกับศาสนาโดยใช้พิธีกรรมต่างๆเพื่อดึงดูดคนเข้าวัดเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวพุทธส่วนใหญ่งมงาย หลงทาง จนคิดว่าสิ่งนั้นเป็นของพุทธศาสนา ด้วยเหตุดังกล่าววัดชลประทานฯ จึงมีพระพุทธรูปเพียงเพื่อพอเป็นพิธี ไม่มีการจุดธูปเทียน ไม่ให้ยึดติดกับอามิสบูชาต่างๆ

          ส่วนลานธรรมรูปวงกลมภายในวัด มีต้นแบบมาจากสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา สุราษฏร์ธานีของท่านพุทธทาส ที่ให้การแสดงธรรมภายในวัดเป็นแบบเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติ เช่นเดียวกับสมัยพุทธกาล เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการสร้างศาลาอาคารต่างๆ และภายในวัดชลประทานจะมีอาคารเท่าที่จำเป็นแก่ศาสนกิจเท่านั้น

          ขณะที่พระที่บวชในช่วงฤดูร้อนจะมีกฏของทางวัด โดยให้พ่อแม่และญาติโยมมาเยี่ยมได้เฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น และในช่วงเวลาจำกัด ห้ามพูดคุยขณะฟังธรรมและฉันอาหาร

          อนึ่ง วัดชลประทานรังสฤษฏ์ สร้างโดยกรมชลประทาน ตั้งอยู่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ในปี 2530 ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทานสมัยนั้น ได้นิมนต์ท่านปัญญานันทะจากวัดอุโมงค์ จ. เชียงใหม่ มาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นวัดสร้างใหม่ที่มีบรรยากาศร่มรื่นมีสภาพแวดล้อมที่ดี เหมาะสำหรับการศึกษาธรรมะในทุกเพศทุกวัย

ประวัติหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

          พระพรหมังคลาจารย์ หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปคือ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ถือกำเนิดที่ตำบลคูหาสวรรค์ อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2454 เดิมมีนามว่า ปั่น เสน่ห์เจริญ หลังใช้ชีวิตฆราวาสจนมีอายุได้ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอุปนันทนาราม จ.ระนอง โดยมีพระระณังคมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดนางลาด อ.เมือง จ.พัทลุง โดยมีพระจรูญกรณีย์เป็นอุปัชฌาย์เมื่อปี พ.ศ.2474

          หลังจากอุปสมบทได้ไม่นาน ได้เดินทางไปศึกษาหาหลักธรรมในบวรพุทธศาสนาหลายจังหวัดที่มีสำนักเรียนธรรมะ เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา และกรุงเทพมหานคร จนหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นที่ 1 ของสังฆมณฑลภูเก็ต และสามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท และเอกในปีถัดมาที่ จ.นครศรีธรรมราช จากนั้นท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อด้านภาษาบาลีจนสามารถสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค ที่สำนักเรียนวัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้หลวงพ่อต้องหยุดการศึกษาไว้เพียงเท่านั้น แล้วเดินทางกลับพัทลุงภูมิลำเนาเดิมและได้เริ่มแสดงธรรมในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้ รวมทั้งเดินทางไปจำพรรษาที่วัดสีตวนารามและวัดปิ่นบังอร รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่นี้ก็ได้ศึกษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน เพื่อเป็นพื้นฐานในการเผยแพร่ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป

          ปี พ.ศ.2475 หลวงพ่อมีโอกาสร่วมเดินทางไปประเทศพม่า กับพระโลกนาถชาวอิตาลีสหายธรรม ร่วมเดินทางแสวงบุญไปประเทศอินเดียและทั่วโลกโดยผ่านทางประเทศพม่าด้วยเท้าเปล่าเพื่อเป็นพุทธบูชา แต่เมื่อเดินทางถึงประเทศพม่าก็ต้องเดินทางกลับ

          ระหว่างปี พ.ศ.2475-2476 หลวงพ่อได้มีโอกาสเดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศหลายประเทศ จนหลวงพ่อได้ชื่อว่า เป็นพระสงฆ์รูปแรกของไทยที่ได้เดินทางไปประกาศธรรมในภาคพื้นยุโรป

          ปี พ.ศ.2477 หลวงพ่อได้เดินทางไปจำพรรษากับพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และร่วมเป็นสหายธรรมดำเนินการเผยแพร่หลักธรรมที่แท้จริงตามหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

          ในปี พ.ศ.2492 หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ได้รับอาราธนานิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ และได้เริ่มแสดงธรรมในทุกวันอาทิตย์และวันพระที่พุทธนิคม จ.เชียงใหม่ พร้อมกันนี้หลวงพ่อได้เขียนบทความต่างๆ ลงในหนังสือพิมพ์และเขียนหนังสือธรรมะขึ้นจำนวนหลายเล่ม นอกจากนี้ หลวงพ่อได้เดินทางไปประกาศธรรมแก่ชาวบ้าน ชาวเขาโดยใช้รถติดเครื่องขยายเสียง จนชื่อเสียงของหลวงพ่อดังกระฉ่อนไปทั่ว จ.เชียงใหม่ ในนาม “ภิกขุปัญญานันทะ”

          ในยุคนี้เองที่หลวงพ่อได้ก่อตั้งมูลนิธิ “เมตตาศึกษา” ที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ และบำเพ็ญศีล กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกมากมาย

          ในปี พ.ศ.2502 ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน ในสมัยนั้น ระหว่างที่ไปเยือนเชียงใหม่มีความประทับใจ ในลีลาการสอนธรรมะแนวใหม่ของหลวงพ่อ จึงเกิดความศรัทธาปสาทะในพลวงพ่อ และในขณะนั้นกรมชลประทานได้สร้างวัดใหม่ขึ้น ชื่อ “วัดชลประทานรังสฤษฎ์” ที่ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จึงได้อาราธนาหลวงพ่อไปเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ.2503 จนถึงปัจจุบัน

          พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ได้ดำเนินการเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยวิธีที่ท่านได้เริ่มปฏิวัติรูปแบบการเทศนาแบบดั้งเดิมที่นั่งเทศนาบนธรรมาสน์ถือใบลาน มาเป็นการยืนพูดปาฐกถาธรรมแบบพูดปากเปล่าต่อสาธารณชน พร้อมทั้งยกตัวอย่างเหตุผลร่วมสมัย ทันต่อเหตุการณ์ เป็นการดึงดูดประชาชนให้หันเข้าหาธรรมะได้เป็นเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงแรกๆ ได้รับการต่อต้านอยู่บ้าง แต่ต่อมาภายหลังการปาฐกถาธรรมแบบนี้กลับเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปจนถึงบัดนี้ เมื่อพุทธศาสนิกชนทราบข่าวว่า หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุจะไปปาฐกถาธรรมที่ใดก็จะติดตามไปฟังกันเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดหลวงพ่อได้รับอาราธนาให้เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมในสถานที่ต่างๆ และเทศนาออกอากาศทั้งทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆด้วย

          นอกจากนี้ หลวงพ่อยังได้รับอาราธนาไปแสดงธรรมในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น และยังได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมและกล่าวคำปราศรัยในการประชุมองค์กรศาสนาของโลกเป็นประจำอีกด้วย

          โดยที่หลวงพ่อท่านเป็นพระมหาเณรผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทย ได้สร้างงานไว้มากมายทั้งด้านศาสนาสังคมสงเคราะห์ตลอดจนงานด้านวิชาการ ดังนั้นหลวงพ่อจึงได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลเกรียรติคุณมากมาย และเป็นประธานในการดำเนินกิจกรรมทั้งที่เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและสังคม เช่น สนับสนุนโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดน เป็นประธานจัดหาทุนสร้างตึกโรงพยาบาล กรมชลประทาน 80 ปี (ปัญญานันทะ) และเป็นประธานในการดำเนินการจัดหาทุนสร้างวัดปัญญานันทาราม ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ แม้ว่าคำสอนของหลวงพ่อจะเป็นคำสอนที่ฟังง่ายต่อการเข้าใจ แต่ลึกซึ้งด้วยหลักธรรมและอุดมการณ์อันหนักแน่นในพระรัตนตรัย หลวงพ่อปัญญานันทภิภขุ เป็นหนึ่งในบรรดาภิกษุผู้มีชื่อเสียง และเปี่ยมด้วยคุณธรรมเมตตาธรรม ผู้นำคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งเหมาะสมสำหรับชนทุกชั้นที่จะเข้าถึง หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่กล้าในการปฏิรูปพิธีกรรมทางศาสนา ของชาวไทยที่ประกอบพิธีกรรมหรูหรา ฟุ่มเฟือย โดยเปลี่ยนเป็นประหยัด มีประโยชน์และเรียบง่าย ดังนั้น หลวงพ่อจึงได้รับการขนานนามว่า “ผู้ปฏิรูปพิธีกรรมของชาวพุทธไทย”

          พระพรหมมังคลาจารย์ หรือ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เข้ารักษาอาการอาพาธ  ที่ตึกอัษฎางค์ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 และมรณภาพ เมื่อ 9 นาฬิกา วันที่ 10  ตุลาคม 2550  ด้วยอาการปอดอักเสบและไตวายเฉียบพลัน ซึ่ง ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช  แถลงว่า หลวงพ่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ด้วยอาการหน้ามืด วูบและแน่นหน้าอก เนื่องจากมีโรคประจำตัวคือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันมาก่อน แพทย์ได้ขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน ทำให้หลวงพ่อมีอาการดีขึ้น

          หลังจากนั้นวันที่ 5 ตุลาคม 2550 พบว่าหลวงพ่อมีอาการติดเชื้อ เริ่มมีอาการไอ มีเสมหะ หลังทำการเอ็กซเรย์ปอดพบว่าปอดอักเสบและติดเชื้อ ต้องให้ยาปฏิชีวนะ จากนั้นการทำงานของไตเริ่มแย่ลง ซึ่งหลวงพ่อเคยมีประวัติโรคไตและโรคเบาหวานอยู่แล้ว จนกระทั่งเมื่อค่ำวันที่ 9 ตุลาคม 2550  หลวงพ่อหัวใจหยุดเต้น 1 ครั้ง แพทย์ได้ปั๊มหัวใจช่วยจนกลับมาเป็นปกติ  กระทั่งเช้า 9  นาฬิกา  วันที่ 10  ตุลาคม 2550  หลวงพ่อปัญญาก็ได้มรณภาพด้วยอาการปอดอักเสบและไตวายเฉียบพลัน สิริรวมอายุได้ 97 ปี

ผลงานและเกียรติคุณหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

งานด้านการปกครอง
-พ.ศ.2503 เป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์
-พ.ศ.2506 ได้รับพระบัญชา แต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
-เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 9
-เป็นรองเจ้าคณะภาค 18
-พ.ศ.2515 เป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธธรรม ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

งานด้านการศึกษา
-พ.ศ.2503 เป็นเจ้าสำนักศาสนาศึกษา แผนกธรรมและบาลีวัดชลประทานรังสฤษฏ์
-พ.ศ.2512 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ ระดับอนุบาล ประถม มัธยมศึกษา
-พ.ศ.2524 เป็นผู้อำนวยการจัดการการอบรมพระธรรมทายาทของวัดชลประทานรังสฤษฏ์
-เป็นผู้อำนวยการจัดการอบรมพระนวกะที่บวชในวัดชลประทานรังสฤษฏ์

งานด้านการเผยแผ่
-พ.ศ.2492-2502 เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมประจำวันพระและวันอาทิตย์ ณ พุทธนิคม สวนพุทธธรรม วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่
-พ.ศ.2500 เป็นประธานมูลนิธิ “ชาวพุทธมูลนิธิ” จังหวัดเชียงใหม่
-เป็นประธานก่อตั้งพุทธนิคม จ.เชียงใหม่
-พ.ศ.2503 เป็นองค์แสดงธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์
-เป็นผู้ริเริ่มการทำบุญ ฟังธรรมในวันอาทิตย์ ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์
-เป็นผู้ก่อตั้งทุนพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน พ.ศ.2520
-เป็นผู้อบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา
-พ.ศ.2525 รับเป็นองค์แสดงธรรมแก่วุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
-พ.ศ.2534 เป็นผู้ริเริ่ม “ค่ายคุณธรรมแก่เยาวชน” ในโรงเรียนต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ฯลฯ
-พ.ศ.2536 จำพรรษา ณ วัดพุทธธรรม ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

การปฏิบัติศาสนากิจในต่างประเทศ
-พ.ศ.2497 เดินทางเผยแผ่ธรรมรอบโลก
-ช่วยเหลือกิจการพุทธศาสนา เผยแผ่ธรรมะในต่างประเทศ คือ ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมัน
-เป็นเจ้าอาวาสววัดพุทธธรรม วัดไทยในชิกาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

งานด้านสาธารณูปการ
-พ.ศ.2516 เป็นประธานในการก่อสร้างกุฏิสี่เหลี่ยม เพื่อเป็นที่อยู่แก่พระภิกษุผู้บวชใหม่
-พ.ศ.2518 เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนพุทธธรรม
-เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
-พ.ศ.2537 เป็นประธานก่อสร้างกุฏิสองหลังเป็นกุฏิทรงไทยประยุกต์

งานด้านสาธารณประโยชน์
-พ.ศ.2533 เป็นประธานหาทุนสร้าง “ตึก 80 ปี ปัญญานันทะ” ให้โรงพยาบาลชลประทานรังสฤษฏ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
-สร้างศูนย์ฝึกและปฏิบัติงาน มูลนิธิแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
-พ.ศ.2534 บริจาคเงินสร้างอุโบสถวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) จ.เชียงใหม่
-พ.ศ.2537 บริจาคเงินสร้างโรงอาหารแก่โรงเรียนประภัสสรรังสิต อ.เมือง จ.พัทลุง
-บริจาคเงินซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลวชิระ จ.ภูเก็ต
-เป็นประธานหาทุนสร้างวัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี
-บริจาคเงินเป็นทุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นที่ขาดแคลนต่างๆ หลายจังหวัด

งานพิเศษ
-พ.ศ.2503 เป็นองค์แสดงธรรมถวายสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน
-พ.ศ.2518 เป็นองค์แสดงธรรมถวายสมเด็จพรเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ณ ศาลาการเปรียญ วัดชลประทานรังสฤษฏ์
-เป็นองค์แสดงธรรมถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และ พระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดีอันมีศักดิ์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
-เป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทแก่ช่าวต่างประเทศ ที่อุปสมบทในประเทศไทย เช่น ชาวอเมริกัน อังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมัน ญี่ปุ่น และศรีลังกา เป็นต้น
-พ.ศ.2529 ได้รับนิมนต์เข้าร่วมประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์อาเชี่ยนเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ 7 ที่ประเทศประชาธิปไตยประชาชนลาว (12th Asain Buddist Conference for Peace)
-พ.ศ.2536 ได้รับนิมนต์ไปร่วมประชุมและบรรยาย ในการประชุมสภาศาสนาโลก 1993 ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา (The 1993 Parliament of the world’s Religion)

งานด้านวิทยานิพนธ์
ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น
1.ทางสายกลาง
2.คำถามคำตอบพุทธศาสนา
3.คำสอนในพุทธศาสนา
4.หน้าที่ของคนฉบับสมบูรณ์
5.รักลูกให้ถูกทาง
6.ทางดับทุกข์
7.อยู่กันด้วยความรัก
8.อุดมการณ์ของท่านปัญญา
9.ปัญญาสาส์น
10.ชีวิตและผลงาน
11.มรณานุสติ
12.ทางธรรมสมบูรณ์แบบ
13.72 ปี ปัญญานันทะ เป็นต้น

เกียรติคุณที่ได้รับ
-พ.ศ.2520 ได้รับรางวัล “สังข์เงิน” จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ในฐานะพระภิกษุผู้เผยแผ่ธรรมะและศีลธรรมยอดเยี่ยมของประเทศไทย
-พ.ศ.2521 ได้รับรางวัล “นักพูดดีเด่น” ประเภทเผยแผ่ธรรม จากสมาคมฝึกพูดแห่งประเทศไทย
-พ.ศ.2525 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระศาสนา เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จากกรมการศาสนา โดยได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณ 2 รางวัล คือ ประเภท ก.บุคคล และประเภท ข.สื่อสารมวลชน (รายการส่งเสริมธรรมะทางสถานีวิทยุโทรทัศน์)
-พ.ศ.2524 ได้รับปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ จาก มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
-พ.ศ.2531 ได้รับปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง
-พ.ศ.2534 ได้รับปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรจน์
-พ.ศ.2536 ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-พ.ศ.2536 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปรัชญาและศาสนา) จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
-พ.ศ.2537 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สมณศักดิ์ที่ได้รับ
-วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2499 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ “พระปัญญานันทมุนี”
-วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นราช ที่ “พระราชนันทมุนี”
-วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ “พระเทพวิสุทธิเมธี”
-วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2537 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ “พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก สาธกธรรมภาณ วิสาลธรรมวิภูษิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

          พระพรหมังคลาจารย์ หรือที่ชาวพุทธรู้จักกันดีในนาม “หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ” ได้อุทิศชีวิตและร่างกายเป็นพุทธบูชา แด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธศาสนา แม้ว่าหลวงพ่อจะมีอายุมากแล้ว แต่หลวงพ่อยังคงทำงานอย่างหนักและต่อเนื่อง ในการรณรงค์ให้ชาวพุทธไทยได้เป็นชาวพุทธที่แท้จริง โดยให้ละทิ้งจากความเชื่องมงาย ตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงพ่อเน้นเสมอในแก่นแท้ของพระศาสนา และความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาอื่นๆ

          ดังนั้น หลวงพ่อจึงกล้าพูดความจริงทุกกาลเทศะ และสนับสนุนคนดีตลอดมา หลวงพ่อจึงเป็นที่ยอมรักจากทุกชุมชน ทั่วทุกมุมโลกที่มีชาวพุทธอยู่อาศัย กราบนมัสการ

ประวัติ

พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๕๔ เมื่อเวลา ๐๗.๒๐ น. ในเรือ ที่ลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบ้านม้า อำเภออินทบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นโอรสของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบกับหม่อมแดง (บุนนาค)

เริ่มการศึกษาขั้นต้น ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (วังหลัง) โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นไปศึกษาต่อที่โรงเรียน Trent College และศึกษาวิชาปรัชญาเศรษฐศาสตร์และการเมืองที่ The Queen’s College มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ สำเร็จปริญญาตรีเกียรตินิยม และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดต่อมาได้รับปริญญาวารสารศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เริ่มเข้ารับราชการที่กรมสรรพากร ซึ่งต่อมาเป็นเลขานุการที่ปรึกษากระทรวงการคลัง และเข้าทำงานเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง เมื่อเกิดสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้เข้ารับราชการทหารได้รับยศนายสิบตรี ต่อจากนั้นรัฐบาลได้ตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ได้เข้าทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายสำนักผู้ว่าการและหัวหน้าฝ่ายออกบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย และยังเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศเป็นพลตรี (ทหารราชองครักษ์พิเศษ) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกในเมืองไทยชื่อ “พรรคก้าวหน้า” เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๘๘ – ๒๔๘๙ ต่อจากนั้นได้ร่วมในคณะผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์  และได้ริเริ่มจัดตั้งพรรคกิจสังคม ในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๘ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตพระนคร ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่สามารถเข้าบริหารประเทศได้ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้ความเห็นชอบตามนโยบายพรรคกิจสังคมซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๑๘ คน โดยการนำของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น และได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๑๘

ในขณะที่บริหารประเทศ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ดำเนินการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง ตามนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และเป็นมิตรกับทุกประเทศที่มีเจตนาดีต่อประเทศไทย โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองในด้านการพัฒนาประเทศ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เริ่มโครงการผันเงินสู่ชนบท เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่และสร้างงานในชนบท โดยการผันเงินจากงบประมาณรายจ่าย เพื่อปรับปรุงและสร้างสิ่งสาธารณูปโภคที่จำเป็นในชนบท มีผลให้ประชาชนในชนบทมีงานทำและมีรายได้ เป็นการยกฐานะทางเศรษฐกิจของชาวชนบทให้ดีขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาสภาตำบลอย่างจริงจัง รวมทั้งจัดให้มีโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และได้ดำเนินการซื้อสัมปทานเดินรถของเอกชนมารวมเป็นของรัฐบาลภายใต้การดำเนินงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

จากการที่รัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค จึงทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร ต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองหลายประการ ในที่สุดหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงได้ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๑๙ รวมระยะเวลาที่บริหารประเทศประมาณ ๙ เดือนเศษ

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคม และได้ยุติบทบาททางการเมือง และใช้ชีวิตสงบเงียบ ณ บ้านพักซอยสวนพลู กรุงเทพมหานคร นอกจากบางโอกาสที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยการให้สัมภาษณ์ หรือโดยการเขียนบทความลงในคอลัมน์ “ซอยสวนพลู” พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๘ ณ โรงพยาบาลสมิติเวช รวมอายุได้ ๘๔ ปีเศษ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช 

 พระราชประวัติ


                         สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กับพระอัครมเหสี  ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๕  เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาทั้งด้านวิชาการ การกีฬา การล่าสัตว์  การขี่มา ขี่ช้าง และการแข่งเรือ  พระองค์มีแม่นม ๒  คน คอยดูแลอภิบาล  คือ  เจ้าแม่วัดดุสิตซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก)  และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตผู้มีชื่อเสียง แม่นมอีกคนหนึ่ง เป็นมารดาของพระเพทราชา พ.ศ. 2198   พระเจ้าปราสาททองประชวรหนักจึงทรงมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าชัย พระโอรสองค์โต ซึ่งประสูติจากพระสนม เจ้าฟ้าชัยครองราชย์ได้ประมาณหนึ่งปี   ก็ถูกปลงพระชนม์โดยพระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอา พระอนุชา จากนั้นพระศรีสุธรรมราชาก็ขึ้นครองราชย์  และแต่งตั้งให้พระนารายณ์เป็นพระมหาอุปราชวังหน้า   หลังจากนั้นประมาณ  ๒  เดือนพระนารายณ์ก็ได้ปลงพระชนม์สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา  เนื่องจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาคิดจะเอาเจ้าฟ้าหญิงศรีสุวรรณหรือพระกนิษฐภคินีร่วมพระชนนีของพระนารายณ์มาเป็นพระชายา  หลังจากนั้นพระนารายณ์ก็เสด็จขึ้นครองราชย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๔ ของพระราชวงศ์ปราสาททอง  ใน พ.ศ. ๒๑๙๙  ขณะพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา  ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์  แต่คนทั่วไปนิยมเรียก  สมเด็จพระนารายณ์  กรุงศรีอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  มีความเจริญรุ่งเรืองมาก

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

              – การลดส่วยและงดเก็บภาษีอากรจากราษฎรเป็นเวลา ๓ ปีเศษ

                       – การประกาศใช้กฎหมายพระราชกำหนดและกฎหมายเพิ่มเติมลักษณะรับฟ้อง

                       – การส่งเสริมงานด้านวรรณกรรม  หนังสือที่แต่งในสมัยนี้  เช่น  สมุทรโฆษคำฉันท์ โคลงทศรถสอนพระราม  โคลงพาลี-สอนน้อง  โคลงราชสวัสดิ์  เพลงพยากรณ์กรุงเก่า  เพลงยาวบางบท  รวมถึงวรรณกรรมชิ้นสำคัญ  คือ  โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ นับเป็น  ยุคทองแห่งวรรณกรรม  ของไทยยุคหนึ่ง

                       – การทำศึกสงครามกับเชียงใหม่และพม่า พ.ศ.๒๒๐๓  และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ลงมาอยุธยาด้วย

                       – ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศนั้น  เจริญรุ่งเรืองมาทั้งประเทศตะวันออก เช่น จีน อินเดีย และประเทศตะวันตกที่สำคัญ ได้แก่ โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส  ทั้งด้านการเชื่อมสัมพันธไมตรีและการป้องกันการคุกคามจากชาติต่างๆ เหล่านี้จากพระราชกรณียกิจต่างๆ ดังกล่าว  จึงทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง อีกทั้งในรัชสมัยของพระองค์ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรมยุคหนึ่งด้วย  สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๒๓๑  ที่เมืองลพบุรี ราชธานีแห่งที่สองที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น