Archive

Monthly Archives: December 2011

มะเร็งลำไส้

ถาม-ตอบ การป้องกันและการรักษา โรคมะเร็งลำไส้

สำหรับใครที่สงสัยเรื่อง โรคมะเร็งลำไส้ วันนี้เรารวบรวมคำถามคำตอบยอดฮิตเกี่ยวกับเรื่อง โรคมะเร็งลำไส้ มาบอกกัน

 เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรามีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้?

ทุก ๆ คน มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ เกิดขึ้นกับอัตราเสี่ยงหลาย ๆ อย่าง คุณมีอัตราเสี่ยงเท่ากับคนทั่วไป ถ้าคุณมีอายุ 50 ปี หรือมากกว่าและไม่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่น

 คุณจะมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้นในการเป็นมะเร็งลำไส้ ถ้าคุณ…

 มีประวัติส่วนตัวเป็นมะเร็งลำไส้ หรือมีติ่งเนื้อ Adenomatous polyps

 มีประวัติครอบครัว โดย (บิดา มารดา พี่ชาย น้องสาว) คนใดคนหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งคนเป็นมะเร็งลำไส้ หรือมีติ่งเนื้อ ชนิด Adenomatous polyps

 มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งหลายชนิด ที่เกี่ยวกับเต้านม รังไข่ มดลูก และอวัยวะอื่น ๆ

 มีประวัติส่วนตัวเป็นลำไส้อักเสบ เช่น Ulcerative colitis หรือ Crohn’s disease

 มีกรรมพันธุ์บางอย่างผิดปกติ ที่จะทำให้คุณมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ อย่างไรก็ตามไม่พบบ่อยนัก

  ปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มการเกิดมะเร็งลำไส้

 การกินอาหารที่มีเส้นใย (fiber) น้อย แต่มีไขมันมาก

 การนั่งอยู่กับที่ไม่ค่อยมีการขยับไปมา (Sedentary lifestyle)

  ผู้หญิงกับผู้ชาย มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ต่างกันหรือไม่?

เพศชาย หรือเพศหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้เท่า ๆ กัน

 อาการแสดงของมะเร็งลำไส้เป็นอย่างไร?

มะเร็งลำไส้เริ่มต้นโดยคนไข้อาจไม่มีอาการเลย อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นได้สักระยะหนึ่งจะเริ่มมีอาการแสดง ดังนี้

 มีเลือดออกจากทวารหนัก

 มีเลือดในอุจจาระ (แดงสดหรือดำ)

 มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนครั้งในการถ่ายอุจจาระไปจากเดิม และโดยเฉพาะรูปร่างของอุจจาระจะเล็กลง

 มีอาการปวดที่บริเวณท้องช่วงล่าง

 มีอาการปวดจากท้องอืดบ่อยขึ้น

 มีความไม่สะดวก หรือรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระโดยที่ปกติไม่เป็น

 น้ำหนักลดเองโดยไม่ได้ต้องการลดน้ำหนัก

 มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

  การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) ทำอย่างไร

วิธีการนี้จะตรวจลำไส้ใหญ่ของคนไข้ทั้งหมด ซึ่งจะทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านทางเดินอาหาร แพทย์จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Colonoscope เป็นท่อยาว, เบา, โค้งไปมาได้ ตรวจดูลำไส้ใหญ่ทั้งหมด เพื่อหามะเร็งและติ่งเนื้อ

การเตรียมลำไส้ โดยให้ยาเพื่อให้ลำไส้ไม่มีอุจจาระเหลือ เป็นสิ่งจำเป็นก่อนการส่องกล้องตรวจ ตัวกล้องโคโลโนสโคปจะมีกล้องถ่ายรูปที่ปลายส่งสัญญาณมาที่โทรทัศน์ เพื่อแสดงภาพ ข้อดีของกล้องโคโลโนสโคป คือ เมื่อส่องพบติ่งเนื้อจะสามารถตัดติ่งเนื้อออกมาทั้งหมด โดยการใส่เครื่องมือผ่านตัวกล้องเข้าไปตัด และเอาติ่งเนื้อนั้นส่งตรวจทางพยาธิเพื่อหามะเร็งลำไส้ได้ การส่องกล้องโดยวิธีนี้ แพทย์จะให้ยานอนหลับกับคนไข้แล้วใช้เวลาตรวจประมาณ 30 ถึง 60 นาที ถ้ามีการตัดชิ้นเนื้ออาจมีเลือดจำนวนเล็กน้อยปนในอุจจาระได้ 2-3 วัน

 การสวนแป้งและ x-ray ตรวจลำไส้ใหญ่ (Barium enema) ทำได้อย่างไร

วิธีการนี้เป็นการใส่แป้งเข้าไปในลำไส้ใหญ่ทั้งหมด แล้ว x-ray ตรวจ อาจใช้แทนการตรวจโคโลโนสโคป หลังจากเตรียมลำไส้ให้สะอาดจะมีการใส่ท่อนิ่ม ๆ เข้าทางทวารหนักและใส่น้ำเรียกว่า การ x-ray จะเริ่มทำเมื่อ barium ไหลไปตามลำไส้ และขอบเขตของก้อนติ่งเนื้อ หรือความผิดปกติอื่น ๆ คนไข้อาจมีความรู้สึกปวดและอยากจะถ่ายขณะที่ทำการตรวจ วิธีการนี้จะใช้แทนการทำโคโลโนสโคปในคนไข้ที่ไม่เหมาะสมในการทำโคโลโนสโคป และจะทำทุก 5-10 ปี

 จะเตรียมตัวอย่างไรในการตรวจหามะเร็งลำไส้?

การเตรียมตัวตรวจที่ดี จะช่วยให้คุณมั่นใจว่าการตรวจของคุณได้ผลแม่นยำ โดยแพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัว ก่อนการตรวจทุกครั้งควรบอกแพทย์ถึงยาที่คุณกำลังกินประจำ เพราะยาบางตัวจะมีผลต่อการตรวจได้

 ถ้าตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้จะทำอย่างไร?

ถ้าตรวจพบมะเร็งลำไส้ การผ่าตัดเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเอามะเร็งออก ชนิดของการผ่าตัดและการติดตามการรักษาขึ้นกับขนาด และการกระจายของมะเร็ง

  ทำอย่างไรจึงจะป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้?

เป็นการยากที่จะกำจัดและป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งลำไส้ทั้งหมด ดังนั้นการตรวจหามะเร็งลำไส้ตั้งแต่ต้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่อย่างไรก็ตามมีหลักฐานในการลดการเกิดมะเร็งลำไส้ ดังนี้

 กินอาหารที่มีเส้นใยมาก โดยเฉพาะผักและผลไม้

 หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว

ปวดท้อง

มะเร็งตับอ่อน โรคร้ายที่ใครก็ไม่อยากเจอ (Momypedia)

ข่าวการเสียชีวิตของ Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Apple และผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นอัจฉริยะแห่งโลกยุคใหม่ด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนทำให้คนทั้งโลกตกใจไม่น้อยค่ะเพราะเราได้สูญเสียคนเก่ง ๆ ไปอีกคน และเมื่อมองย้อนกลับมาที่โรคซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเขา ก็น่าตกใจไม่น้อยเช่นกัน เพราะในปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตเพราะมะเร็งตับอ่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ก่อนหน้านี้มีคนดังที่ต้องพ่ายแพ้ให้กับมะเร็งตับอ่อนไปแล้ว อย่าง Patrick Swayze พระเอกจากหนังเรื่อง Ghost รวมถึง Randy Pausch อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ Carnegie Mellon University เจ้าของเรื่องราวในหนังสือชื่อดัง The Last Lecture ที่ทำให้หลายคนร้องไห้มาแล้ว วันนี้เรามาทำความรู้จักกับมะเร็งตับอ่อนกันค่ะว่าร้ายแรงอย่างไร

ตับอ่อนคืออะไร

ตับอ่อนเป็นอวัยวะภายในที่อยู่บริเวณท้องส่วนบนและอยู่หลังกระเพาะอาหาร ตับอ่อนประกอบไปด้วย 2 ต่อมหลักคือ

 1. ต่อมมีท่อ ทำหน้าที่สร้างเอ็นไซม์ เพื่อย่อยไขมันและโปรตีนในอาหาร

 2. ต่อมไร้ท่อ ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน เช่น อินซูลิน กลูคากอน เป็นต้น

มะเร็งตับอ่อนเกิดได้อย่างไร

มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer) เป็นมะเร็งที่ยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ แต่ก็มีหลายปัจจัยที่กระตุ้น ได้แก่

 1. ในคนที่สูบบุหรี่จัด มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งตับอ่อน

 2. ในคนที่มีครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อน มีโอกาสเป็นมะเร็งตับอ่อนได้สูง

 3. ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน มีปัจจัยเสี่ยงสูง

 4. โรคตับอ่อน อักเสบเรื้อรัง หรือกินอาหารไขมันสูงเป็นประจำ โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์

 5. เนื้องอกที่เกิดจากต่อมมีท่อและไร้ท่อ

 อาการ

มะเร็งตับอ่อนมักเกิดขึ้นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า และจะพบมากในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 40-70 ปี ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งตับอ่อน และมักจะตรวจพบเมื่อมะเร็งลุกลามหรือรุนแรงมากแล้ว แต่อาการสังเกตเบื้องต้นมีดังนี้

 ดีซ่าน ตัวเหลืองตาเหลือง

 อาการปวดบริเวณส่วนบนของช่องท้องและร้าวไปหลัง ปวดท้องรวมกับปวดหลัง

 เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ

 อ่อนเพลียกว่าปกติ

 ผู้ป่วยบางคนอุจจาระลักษณะมีไขมันปนมาก

การตรวจและระยะของมะเร็ง

การตรวจหามะเร็งตับอ่อนค่อนข้างยาก ซึ่งมักจะพบเมื่อมะเร็งเริ่มลุกลามมากแล้ว วิธีที่สามารถตรวจได้ดีที่สุดคือ การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจหามะเร็ง แต่นั้นก็ต้องอยู่ในการพิจารณาของแพทย์และอาการที่เกิดขึ้น มะเร็งตับอ่อนแบ่งออกเป็น 4 ระยะ

 ระยะที่ 1  ก้อนมะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะในตับอ่อน

 ระยะที่ 2  ก้อนมะเร็งลุกลามออกนอกตับอ่อน หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ติดกับตับอ่อน

 ระยะที่ 3  ก้อนมะเร็งลุกลามเข้าเส้นเลือดใหญ่ในส่วนของตับอ่อน

 ระยะที่ 4  โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด (มักแพร่กระจายเข้าตับ ปอด และกระดูก) หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง นอกช่องท้องซึ่งอยู่ไกลจากตัวตับอ่อน

การรักษา

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งตับอ่อนจนกว่าจะได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจน และก็มักจะพบเมื่อลุกลามมากเกินกว่าจะป้องกันหรือรักษาให้หายได้ แต่สำหรับผู้ที่สามารถตรวจพบได้ไวก็สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด วิธีรักษามะเร็งตับอ่อนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

 1. กลุ่มที่ผ่าตัด ใช้ได้ในกรณีที่ตรวจพบในระยะแรกของโรค และแพทย์ลงความเห็นว่าสามารถผ่าตัดได้ ซึ่งนอกจากตัดตับอ่อนบางส่วนออก หรือตัดออกทิ้งทั้งหมดแล้ว อาจจะต้องตัดอวัยวะส่วนอื่นออกด้วย เพื่อป้องกันเชื้อที่อาจจะยังมีและลุมลาม เช่น ลำไส้เล็กส่วนต้น ท่อน้ำดี กระเพาะอาหารบางส่วน

 2. กลุ่มที่ผ่าตัดไม่ได้ ใช้ในกรณีที่มะเร็งลุกลามมากแล้วซึ่งจะเป็นการรักษาและประคองอาการเท่านั้น เช่น การให้เคมีบำบัด และการฉายรังสีเพื่อยับยั้งการขยายตัวของมะเร็ง หรือการผ่าตัดเพื่อทำทางเบี่ยงน้ำดีเพื่อ ลดอาการดีซ่าน หรือทางเบี่ยงให้กระเพาะอาหารเพื่อลดการอุดตันของทางเดินอาหารยังเป็น วิธีการที่บรรเทาอาการผู้ป่วยได้ดีที่สุด

มะเร็งตับอ่อนเป็นโรคที่พบได้น้อยค่ะ แต่เมื่อพบแล้วก็มักจะรุนแรงมากและเสียชีวิตแทบทุกราย ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพให้พบโรคมะเร็งตับอ่อนตั้งแต่ระยะเริ่มเป็นโรค ซึ่งเราเองนี่ล่ะค่ะที่ต้องสำรวจอาการเริ่มแรกที่เกิดกับตัวเอง และเมื่อสงสัยว่าอยู่ในกลุ่มอาการดังกล่าวควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิฉัย จะได้ป้องกันและเตรียมตัวรักษากันได้ทันนะคะ

ไส้เลื่อน (หมอชาวบ้าน)
คอลัมน์ สารานุกรมทันโรค โดย นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

ไส้เลื่อน หมายถึงภาวะที่มีลำไส้บางส่วนไหลเลื่อนออกมาตุงอยู่ที่ผนังหน้าท้อง ทำให้เห็นเป็นก้อนบวมตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้อง

ไส้เลื่อน มีอยู่หลายชนิด ซึ่งจะมีอาการแสดงภาวะแทรกซ้อน และการรักษาแตกต่างกันไป ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น

ไส้เลื่อน ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นก้อนตุงตรงผนังหน้าท้องหรือขาหนีบ ซึ่งจะบวมๆ ยุบๆ (โผล่ๆ ผลุบๆ) มักจะไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด แต่ถ้าปล่อยให้เกิดการติดคา ไม่ยุบก็อาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้

ชื่อภาษาไทย : ไส้เลื่อน
ชื่อภาษาอังกฤษ : Hernia

สาเหตุของ ไส้เลื่อน

ไส้เลื่อน เกิดจากผนังหน้าท้องบางจุดมีความอ่อนแอ (หย่อน) ผิดปกติ ส่วนมากเป็นความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด ทำให้ลำไส้ที่อยู่ข้างใต้ไหลเลื่อนทะลักเข้าไปในบริเวณนั้น เห็นเป็นก้อนตุง ส่วนน้อยที่เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง (เช่น แผลผ่าตัดที่หน้าท้อง)

ไส้เลื่อนมี อยู่หลายชนิด ที่พบบ่อยได้แก่

 ไส้เลื่อน ที่สะดือ (inguinal hernia) ผู้ป่วยจะมีหน้าท้องที่บริเวณขาหนีบอ่อนแอผิดปกติมาแต่กำเนิด แต่จะปรากฏอาการไส้เลื่อนเมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มสาว หรือวัยกลางคน หรือเมื่อเป็นโรคไอเรื้อรัง เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมปอดโป่งพอง ไส้เลื่อน ชนิดนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้

 ไส้เลื่อน ที่เกิดหลังผ่าตัด (incisional hernia) เป็น ไส้เลื่อน ที่เกิดหลังได้รับการผ่าตัดช่องท้อง เมื่อแผลหายแล้ว ผนังหน้าท้องในบริเวณผ่าตัด เกิดหย่อนกว่าปกติ ทำให้ลำไส้ไหลทะลักเป็นก้อนโป่งที่บริเวณนั้น

อาการของ ไส้เลื่อน

 สะดือจุ่น ทารกจะมีอาการสะดือจุ่น หรือสะดือโป่งเวลาร้องไห้ ซึ่งจะเป็นมาแต่แรกเกิด โดยไม่มีความผิดปกติอื่นๆ

 ไส้เลื่อน ที่ขาหนีบ ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นมีก้อนตุงที่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ ซึ่งจะเห็นชัดขณะลุกขึ้นยืน หรือเวลายกของหนัก ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย เวลานอนหงายก้อนจะยุบหายไป เมื่อคลำดูจะพบว่าก้อนมีลักษณะนุ่มๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด

 อาการมีก้อนตุงโผล่ๆ ผลุบๆ แบบนี้มักจะเป็นอยู่นานเป็นแรมปี สิบๆ ปีหรือตลอดชีวิต แต่ถ้ามีภาวะ ไส้เลื่อน ติดคาอยู่ที่ผนังหน้าท้อง ก็จะกลายเป็นก้อนตุงไม่ยุบหาย และจะมีอาการเจ็บปวดที่ท้อง ปวดท้องอาเจียนตามมา ซึ่งถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของไส้เลื่อน

 ไส้เลื่อน ที่เกิดหลังผ่าตัด ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยไม่มีก้อนตุงที่หน้าท้อง แต่หลังผ่าตัด (อาจนานเป็นแรมเดือน หรือแรมปี ต่อมาก็พบว่าบริเวณใกล้ๆ รอบแผลผ่าตัด จะมีก้อนตุงขนาดใหญ่ ไม่มีอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะจะเห็นชัดในท่ายืนหรือนั่ง แต่เวลานอนก้อนจะเล็กลงหรือยุบลง อาการจะเป็นเรื้อรังจนกว่าจะได้รับการผ่าตัดแก้ไข

การแยกโรค ไส้เลื่อน

ก้อนที่บริเวณหน้าท้อง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

 ก้อนฝี ซึ่งจะมีอาการปวดบวมแดงร้อน แตะถูกเจ็บ และไม่ยุบหายเวลานอนหงาย

 ก้อนเนื้องอก มักจะเป็นก้อนแข็ง ไม่ยุบ แตะถูกไม่เจ็บ

ส่วนก้อนที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะ นอกจากก้อนฝีและก้อนเนื้องอกแล้ว ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

 โรคฝีมะม่วง ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะบวมแดงร้อน

  ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ถ้าเป็นเฉียบพลันจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ปวด แดงร้อน ถ้าเป็นเรื้อรังมักจะเป็นก้อนแข็ง ไม่เจ็บ ไม่ยุบ

 ถุงน้ำทุ่งอัณฑะหรือกล่อนน้ำ (hydrocele) มีลักษณะเป็นก้อนนุ่ม คล้ายลูกโป่งใส่น้ำ ไม่เจ็บ ไม่ยุบเวลาใช้ไฟฉายส่องจะเห็นโปร่งใส มักพบในเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด ส่วนน้อยอาจพบตอนโตแล้ว (ภายหลังได้รับบาดเจ็บหรือเกิดการอักเสบที่ถุงอัณฑะ)

 อัณฑะบิดตัว (testicular torsion) เกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติของสายรั้งอัณฑะ (spermatic cord) และเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอัณฑะ ทำให้ถุงอัณฑะหลวมกว่าปกติ อัณฑะสามารถบิดหมุนรอบตัวเมื่ออายุมากขึ้นได้ มีอาการปวดอัณฑะรุนแรง ตรวจพบเป็นก้อนบวม แตะถูกเจ็บ ไม่ยุบ

การวินิจฉัยโรค ไส้เลื่อน

แพทย์จะวินิจฉัยโรค ไส้เลื่อน จากอาการแสดงและสิ่งตรวจพบ ได้แก่ อาการมีก้อนตุงโผล่ๆ ผลุบๆ ก้อนมีลักษณะนุ่มๆ หยุ่นๆ ไม่เจ็บ

ในรายที่ไม่แน่ใจว่าเป็น ไส้เลื่อน  แพทย์อาจส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เป็นต้น

การดูแลตนเอง

ถ้าพบว่ามีก้อนตุงที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้อง รวมทั้งบริเวณขาหนีบและอัณฑะ ก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

แต่ถ้าก้อนนั้นมีลักษณะแข็ง โตขึ้น แดงร้อนหรือเจ็บปวด หรือมีอาการปวดท้อง หรืออาเจียนร่วมด้วย ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

ในกรณีที่เป็น ไส้เลื่อน แพทย์อาจแนะนำให้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นไส้เลื่อนขนาดใหญ่ หรือขึ้นตรงบริเวณขาหนีบถุงอัณฑะ หลังจากแผลผ่าตัดหายดีแล้ว ก็สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เช่นคนปกติทั่วไป

ไม่มีแล้ว… แขนของพ่อที่เกาะเกี่ยว
แสนเปล่าเปลี่ยวในหัวใจยามคิดถึง
รักของพ่อ… ยังฝังลึกให้คำนึง
ลูกซาบซึ้งในพระคุณที่หนุนนำ

มือของพ่อ… เคยโอบอุ้มทั้งฟูมฟัก
ประสานรักแต่ตัวน้อยทุกคืนค่ำ
สิ่งดีๆ ที่พ่อให้ยังจดจำ
ลูกยังพร่ำใจยังเพ้อยังเหม่อคอย

ใกล้วันพ่อ… มาอีกแล้ว… นะพ่อจ๋า
ใต้ผืนฟ้ายังมีลูกตัวน้อยน้อย
คิดถึงพ่อลูกทดท้อ… น้ำตาปรอย
ลูกเหม่อลอยด้วยอาลัยในพระคุณ

ขอให้พ่อมีความสุขในภพอื่น
น้ำตารื้น… หยดร่วงไป… ใต้หมอนหนุน
จะหลับไหล… ไปพร่ำพรอด… กอดละมุน
คงอบอุ่น… แม้เพียงฝัน… ฉันก็ยอม

แม้วันนี้พ่อไม่ได้อยู่กับผม
แต่แหงนหน้ามองฟ้าทีไร… ผมก็รู้ว่าพ่อยังดูผมอยู่ครับ
จะทำดี(ที่สุด)เพื่อพ่อครับ
รักพ่อนะ… และคิดถึงพ่อเสมอ

วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ
21 ตุลาคม ของทุกปี

วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ

จากการที่สมเด็จย่าทรงพระเมตตาอยากให้ปวงประชามีฟันดี จึงทรงทรงก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีขึ้น ซึ่งเรียกกันย่อๆ ว่า “พอ.สว.” ก็เพื่อให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร โดยพระองค์เป็นนายิกากิตติมศักดิ์ พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องบริการทันตกรรมเป็นพิเศษ ได้ทรงกำชับไว้ว่า “ต้องมีทันตแพทย์ไปช่วยชาวบ้านทุกครั้ง เนื่องจากคนไข้ในท้องถิ่นทุรกันดาร เมื่อมีโรคฟันจะต้องทนทุกข์ทรมานและไม่สามารถช่วยตนเองได้ ดังนั้นต้องให้มีทันตแพทย์ไปช่วยโดยด่วน” ทันตบุคลากรจึงเป็นส่วนหนึ่งของทีมอาสาสมัครของหน่วยแพทย์พอ.สว. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา

ที่มาของวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ

จนในปี พ.ศ. 2529 มูลนิธิพอ.สว. ได้ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข คณะทันตแพทยศาสตร์ ทุกมหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร และทันตแพทยสมาคมฯ เริ่มจัด “กิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันพระราชสมภพ 21 ตุลาคม โดยระดมทันตบุคลากรอาสาสมัครทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วประเทศ ออกให้บริการตรวจรักษาโรคในช่องปาก โดยไม่คิดมูลค่าแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร 48 จังหวัด และได้จัดกิจกรรมนี้ต่อเนื่องทุกปี จนถึงปี พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้วันที่ 21 ตุลาคม เป็น “วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ”

จึงถือได้ว่าวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ มีที่มาจากพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ต่อราษฎรผู้ทุกข์ทรมานด้วยโรคฟัน ซึ่งหลังจากพระองค์ท่านเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกิตติมศักดิ์สืบต่อมา

สืบสานพระปณิธานของสมเด็จย่า

โครงการด้านทันตสาธารณสุขต่างๆ ที่พระองค์และมูลนิธิพอ.สว. ให้การสนับสนุน เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่แก้ปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชนอย่างแท้จริงและ ครบวงจร ทั้งการรักษาโรคในช่องปาก การจัดบริการทันตกรรมป้องกัน การส่งเสริมให้เกิดการดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง

กระทรวงสาธารณสุขได้สืบสานพระปณิธานดังกล่าว ด้วยการศึกษาสถานการณ์สุขภาพช่องปากของประชาชนไทยเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา และพบว่าโรคในช่องปากทั้งฟันผุ เหงือกอักเสบ สภาวะปริทันต์อักเสบ มีความชุกสูง เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโรคที่ป้องกันได้ สาเหตุมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งการบริโภคอาหารหวาน การทำความสะอาดฟันที่ไม่ถูกวิธี การไปรับบริการทางทันตกรรมเฉพาะเมื่อปวดฟัน เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อลดการสูญเสียฟัน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องผลักดัน โครงการสำคัญต่างๆ ซึ่งในปี พ.ศ. 2550

  • ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสหวิชาชีพ ในเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เพื่อลดการบริโภคอาหารหวาน โดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน
  • ร่วมกับภาคี มหาวิทยาลัย องค์กรท้องถิ่น และภาคเอกชน เพื่อรณรงค์แปรงฟันในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
  • ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการรณรงค์ให้เด็กประถมศึกษาได้ฝึกทักษะการแปรงฟันอย่างถูกวิธี และได้รับบริการเคลือบหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันฟันผุ

สำหรับผู้สูงวัยที่ปัจจุบันมีการสูญเสียฟันไปแล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยทันตกรรมพระราชทาน มูลนิธิพอ.สว. คณะทันตแพทยศาสตร์ ทุกมหาวิทยาลัย หน่วยบริการทุกกระทรวง จัดบริการใส่ฟันเทียมตามโครงการฟันเทียมพระราชทาน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และในวาระมหามงคล 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550 นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการหามาตรการป้องกันการสูญเสียฟันที่ เหมาะสมแก่ผู้สูงวัย

กิจกรรมรณรงค์

วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า พระผู้อยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทย ภาพในความทรงจำของปวงชนชาวไทย คือภาพที่พระองค์ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในชนบทห่างไกล พร้อมหน่วยแพทย์พอ.สว. ซึ่งมีทันตแพทย์ให้บริการตรวจและรักษาโรคในช่องปากแก่ประชาชนในท้องถิ่น ทุรกันดารห่างไกล หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ” กระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิพอ.สว. ได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ ในการจัดกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขเนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ 21 ตุลาคม ถวายเป็นพระราชกุศล ในวันคล้ายวันพระราชสมภพ

จากการรณรงค์ใน 48 จังหวัด พอ.สว. ได้ขยายการรณรงค์ครอบคลุมทั่วประเทศ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเพื่อสุขภาพช่องปากของประชาชน แต่ละปีมีประชาชนนับแสนคนที่ได้รับบริการจากกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ โดยไม่คิดมูลค่าภายใต้ชื่องาน “สมเด็จย่าทรงพระเมตตา ให้ปวงประชามีฟันดี” และมีการพัฒนาคุณภาพการบริการ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเองอย่าง ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณด้านทันตกรรม ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดารและห่างไกลการคมนาคม ได้รับบริการบำบัดรักษาโรคในช่องปาก มีโอกาสได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง จึงได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญา ทันตแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2530 โดยมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยขอนแก่น และในปี พ.ศ. 2533 โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2533 องค์การอนามัยโลก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองแห่งสุขภาพดีถ้วนหน้าเป็นพระองค์แรกในประวัติการณ์ขององค์การ อนามัยโลก เพื่อประกาศพระเกียรติคุณอันสูงสุดที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันทรงคุณ ค่าแก่งานสุขภาพอนามัยแห่งชาวโลกทั้งมวล

ในปี พ.ศ. 2549 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิพอ.สว. ได้จัดการรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานงานไปยังหน่วยบริการภาครัฐทุกแห่ง ทั้งในกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย คณะทันตแพทยศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย ในการจัดบริการตรวจรักษาโรคในช่องปาก รวมทั้งการให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากแก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า และร่วมกันถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ยังได้จัดการรณรงค์ “สมเด็จย่าทรงพระเมตตา ให้ปวงประชามีฟันดี” เพื่อเปิดโครงการจัดการรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขเนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่ง ชาติ ปี พ.ศ. 2549

มีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า จัดนิทรรศการเพื่อการดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปากที่กรมอนามัย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2549 โดยมุ่งหวังว่าประชาชนทั่วไปจะรับรู้และร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมีต่อวิชาชีพทันตกรรมและวันทันตสาธารณ สุขแห่งชาติ รวมทั้งได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปากด้วยตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพแข็งแรงและคุณภาพ ชีวิตที่ดีตามยุทธศาสตร์ “เมืองไทยแข็งแรง” ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติต่อไป

สถานการณ์สุขภาพช่องปากในไทย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพและสุขภาพช่องปากดี ตามพระปณิธานของสมเด็จย่า สุขภาพช่องปากก็เป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับสุขภาพ และคุณภาพชีวิต ซึ่งมีกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2547 ว่า “คนเราเวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง”

กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศยุทธศาสตร์ “เมืองไทยแข็งแรง” เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้คนไทยควรมีอายุขัยเฉลี่ย 80 ปี อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิต ซึ่งถ้าคิดตามกระแสพระราชดำรัสแล้ว ผู้ที่มีอายุ 80 ปี ฟันจะต้องดีด้วย สำหรับใช้เคี้ยวอาหารเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต

กรมอนามัย โดยกองทันตสาธารณสุข ได้ทำการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากของประชาชนเป็นประจำทุก 5 ปี ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2543-2544 พบว่าโรคฟันผุในฟันน้ำนมมีความชุกและความรุนแรงสูง เด็กอายุ 5-6 ปี มีฟันน้ำนมผุร้อยละ 87 และที่ผุเกือบทั้งหมดไม่ได้รับการรักษา ฟันแท้ของเด็กอายุ 12 ปี ผุร้อยละ 57 ผุมากที่สุดที่ฟันกรามถาวรซี่ที่ 1 และ 2 กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 35-44 ปี จะเริ่มพบการผุที่รากฟันและพบสภาวะปริทันต์อักเสบ ทำให้เกิดการละลายของกระดูกหุ้มรากฟัน ฟันโยก และสูญเสียฟันในที่สุด สำหรับกลุ่มผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป ปัญหาหลักได้แก่ ความทุกข์ทรมานจากการสูญเสียฟันจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้

ร้อยละ 96 ของผู้สูงวัยมีการสูญเสียฟันอย่างน้อย 1 ซี่ สูญเสียฟันทั้งปากและต้องใส่ฟันเทียมทดแทนร้อยละ 5 หรือประมาณ 3 แสนคน ผู้ที่มีฟันก็พบโรคฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ ที่เป็นสาเหตุให้สูญเสียฟันเพิ่มขึ้นได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่เหมาะสม หรือเหมาะสมแต่ไม่สม่ำเสมอมาตั้งแต่วัยเด็ก

การสืบสานพระปณิธาน

กรมอนามัยจึงได้จัดโครงการส่งเสริมและป้องกันโรคในช่องปาก เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงตามกลุ่มวัยต่างๆ มาโดยตลอด ทั้งพฤติกรรมการทำความสะอาดฟัน ลดการบริโภคอาหารหวาน หรือขนมของเด็ก พฤติกรรมการรับบริการเพื่อการป้องกันโรคในช่องปาก ทั้งเด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียน ที่ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิพอ.สว. อาทิเช่น การเฝ้าระวังทางทันตสาธารณสุขในโรงเรียนประถมศึกษาเพื่อจัดบริการทั้งการส่ง เสริม ป้องกัน และรักษาโรคในช่องปากแก่เด็กนักเรียน รวมทั้งเน้นให้เด็กรู้จักใช้แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สามารถแปรงฟันได้ถูกวิธี ดูแลรักษาสุขภาพเหงือกและฟันด้วยตนเอง

การรณรงค์ “ฟันสะอาด เหงือกแข็งแรง” ในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีพฤติกรรมที่ถูกต้องในการดูแลรักษาเหงือกและฟันของตนเอง โดยการสอนและฝึกทักษะในการแปรงฟัน รวมทั้งทดสอบประสิทธิภาพหลังการแปรงฟันด้วยการใช้เม็ดสีย้อมคราบจุลินทรีย์ บนตัวฟัน

การรณรงค์ใช้สารเคลือบหลุมร่องฟันป้องกันฟันผุในฟันกราม ถาวรซี่ที่ 1 ของเด็กอายุ 5-7 ปี ซึ่งเป็นฟันที่พบการผุมากที่สุด เนื่องจากฟันซี่นี้ขึ้นในช่วงเวลาที่เด็กยังเล็ก และไม่ให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดฟัน การเคลือบหลุมร่องฟันจะเป็นมาตรการป้องกันฟันผุด้านบดเคี้ยว ที่เป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิผลสูงสุดตราบเท่าที่สารเคลือบหลุมร่องฟันยัง คงยึดติดกับผิวฟัน

โครงการ “แม่ลูกฟันดี 102 ปีสมเด็จย่า” เพื่อควบคุมโรคฟันผุสำหรับเด็กปฐมวัย โดยการปรับพฤติกรรมแม่ในการดูแลตนเองและลูก เริ่มตั้งแต่ฟันที่เริ่มสร้างเมื่ออยู่ในครรภ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากในหญิงตั้งครรภ์ และให้บริการตรวจเฝ้าระวังทันตสุขภาพ จัดบริการป้องกันรักษาตามจำเป็นแก่ลูกตั้งแต่แรกเกิดอย่างต่อเนื่องจนถึง 3 ปี

การสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขเนื่องในวันทันต สาธารณสุขแห่งชาติในวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี โครงการและกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นที่มาของกิจกรรมการดำเนินงานทันตสาธารณสุขในปัจจุบัน ของกรมอนามัยที่ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานและองค์กรที่ เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชน ทั้งการจัดกิจกรรมแปรงฟันหลังอาหารกลางวันในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน การส่งเสริมสุขภาพช่องปากแก่หญิงมีครรภ์ การแปรงฟันหลังอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา การงดจำหน่ายขนมหรือน้ำอัดลมที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุในโรงเรียน การรณรงค์เคลือบหลุมร่องฟันตามโครงการ “ยิ้มสดใส เด็กไทยฟันดี”

สำหรับวัยทำงาน มีคลินิกอดบุหรี่เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์และมะเร็งช่องปาก และสำหรับกลุ่มผู้สูงวัย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และในวาระมหามงคล 80 พรรษาในปี พ.ศ. 2550 โดยมีกรมอนามัยเป็นหน่วยประสานการดำเนินงาน ทั้งนี้เพื่อลดการสูญเสียฟัน และใส่ฟันเทียมทดแทนให้กับผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน

นอกจากนี้ยังได้จัดการดูแลมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อคุ้มครอง ผู้บริโภค เช่น จัดทำมาตรฐานปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟัน ในน้ำบริโภค จัดทำมาตรฐานคุณภาพขนแปรงและการตรวจสอบคุณภาพที่กรมอนามัย เป็นต้น

การสนับสนุนให้เกิดการดูแลสุขภาพในช่องปาก

นอกจากการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากแก่ประชาชน แล้ว กรมอนามัยยังสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ได้จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า นิทรรศการเพื่อการดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปาก แปรงสีฟันและยาสีฟันเก่าแลกของใหม่

นอกจากนี้กรมอนามัยยังพบว่ามีผู้สูงอายุอีกกลุ่มหนึ่งที่ สามารถดูแลสุขภาพช่องปากตนเองอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ตั้งแต่วัยเด็ก สมควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการดูแลสุขภาพช่องปากแก่ลูกหลาน แม้ว่าจะมีน้อยมาก แต่ก็ยังพบว่ามีอยู่ทุกภาคในประเทศไทย จึงได้จัดให้มีการประกวด “10 ยอดฟันดี วัย 80 ปี” ขึ้นทุกปี เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ “เมืองไทยแข็งแรง” ของกระทรวงสาธารณสุข ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมการประกวดเป็นผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป มีสุขภาพแข็งแรง มีฟันดีอย่างน้อย 24 ซี่ มีอนามัยช่องปากดี

ปี 2552 นี้ …วันมาฆบูชา ตรงกับวันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2552 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3

***********

วันมาฆบูชา
ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3

ความหมายวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชาหมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์

ความสำคัญวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์

ผู้ได้อภิญญา ๖และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส

ประวัติความเป็นมาวันมาฆบูชา
๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือนขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน ๓ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ เรียกว่าว่า วันจาตุรงคสันนิบาต

คำว่า “จาตุรงคสันนิบาต” แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ

  • “จาตุร” แปลว่า ๔
  • “องค์” แปลว่า ส่วน
  • “สันนิบาต” แปลว่า ประชุม

ฉะนั้นจาตุรงคสันนิบาตจึงหมายความว่า “การประชุมด้วยองค์ ๔” กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ

  1. เป็นวันที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหาร
    ในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
  2. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจาก
    พระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
  3. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์
  4. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ

มูลเหตุ
หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และได้ทรงประกาศพระศาสนาและส่งพระอรหันตสาวกออกไปจาริกเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนายังสถานที่ต่าง ๆ ล่วงแล้วได้ 9 เดือน ในวันที่ใกล้พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้นต่างได้ระลึกว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์ อันเป็นศาสนาของตนอยู่เดิม ก่อนที่จะหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และในลัทธิศาสนาเดิมนั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือนมาฆะ เหล่าผู้ศรัทธาพราหมณลัทธินิยมนับถือกันว่าวันนี้เป็นวันศิวาราตรี โดยจะทำการบูชาพระศิวะด้วยการลอยบาปหรือล้างบาปด้วยน้ำ แต่มาบัดนี้ตนได้เลิกลัทธิเดิมหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงควรเดินทางไปเข้าเฝ้าบูชาฟังพระสัทธรรมจากพระพุทธเจ้า พระอรหันต์เหล่านั้นซึ่งเคยปฏิบัติศิวาราตรีอยู่เดิม จึงพร้อมใจกันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย

มีผู้กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสาวกทั้ง 1,250 องค์มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย มาจากในวันเพ็ญเดือน 3 ตามคติพราหมณ์ เป็นวันพิธีศิวาราตรี พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนจึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัวกันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์ มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน

โอวาทปาฏิโมกข์
หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (ถรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา), คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)

สพฺพปาปสฺส อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํเอตํ พุทธาน สาสนํฯ
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ

แปล :
 การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะการไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันมาฆบูชา (พุทธสังเวชนียสถาน)

พระพุทธรูปยืนกลางมณฑลมหาสังฆสันนิบาต ในโบราณสถานวัดเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ รัฐพิหาร อินเดีย (เป็นพระพุทธรูปสร้างใหม่ ปัจจุบันเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก)เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันมาฆบูชา เกิดภายในบริเวณที่ตั้งของ “กลุ่มพุทธสถานโบราณวัดเวฬุวันมหาวิหาร” ภายในอาณาบริเวณของวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งลานจาตุรงคสันนิบาตอันเป็นจุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชานั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงและหาข้อสรุปทางโบราณคดีไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน

วัดเวฬุวันมหาวิหาร
“วัดเวฬุวันมหาวิหาร” เป็นอาราม (วัด) แห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต บนริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดีซึ่งมีตโปธาราม (บ่อน้ำร้อนโบราณ) คั่นอยู่ระหว่างกลาง นอกเขตกำแพงเมืองเก่าราชคฤห์ (อดีตเมืองหลวงของแคว้นมคธ) รัฐพิหาร ประเทศอินเดียในปัจจุบัน (หรือ แคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล)

วัดเวฬุวันในสมัยพุทธกาล
เดิมวัดเวฬุวันเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จพระพาสของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นสวนป่าไผ่ร่มรื่นมีรั้วรอบและกำแพงเข้าออก เวฬุวันมีอีกชื่อหนึ่งปรากฏในพระสูตรว่า “พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน”หรือ “เวฬุวันกลันทกนิวาป” (สวนป่าไผ่สถานที่สำหรับให้เหยื่อแก่กระแต) พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายพระราชอุทยานแห่งนี้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาหลังจากได้สดับพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถาและจตุราริยสัจจ์ ณ พระราชอุทยานลัฏฐิวัน (พระราชอุทยานสวนตาลหนุ่ม) โดยในครั้งนั้นพระองค์ได้บรรลุพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา และหลังจากการถวายกลันทกนิวาปสถานไม่นาน อารามแห่งนี้ก็ได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์ประชุมจาตุรงคสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา อันเป็นเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา

วัดเวฬุวันหลังการปรินิพพาน
หลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน วัดเวฬุวันได้รับการดูแลมาตลอด โดยเฉพาะมูลคันธกุฎีที่มีพระสงฆ์เฝ้าดูแลทำการปัดกวาดเช็ดถูปูลาดอาสนะและปฏิบัติต่อสถานที่ ๆ พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ทุก ๆ แห่ง เหมือนสมัยที่พระพุทธองค์ทรงพระชนมชีพอยู่มิได้ขาด โดยมีการปฏิบัติเช่นนี้ติดต่อกันกว่าพันปี

แต่จากเหตุการณ์ย้ายเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธหลายครั้งในช่วง พ.ศ. 70 ที่เริ่มจากอำมาตย์และราษฎรพร้อมใจกันถอดกษัตริย์นาคทัสสก์แห่งราชวงศ์ของพระเจ้าพิมพิสารออกจากพระราชบัลลังก์ และยกสุสูนาคอำมาตย์ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าลิจฉวีในกรุงเวสาลีแห่งแคว้นวัชชีเก่า ให้เป็นกษัตริย์ตั้งราชวงศ์ใหม่แล้ว พระเจ้าสุสูนาคจึงได้ทำการย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธไปยังเมืองเวสาลีอันเป็นเมืองเดิมของตน และกษัตริย์พระองค์ต่อมาคือพระเจ้ากาลาโศกราช ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุสูนาค ได้ย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธอีก จากเมืองเวสาลีไปยังเมืองปาตลีบุตร ทำให้เมืองราชคฤห์ถูกลดความสำคัญลงและถูกทิ้งร้าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัดเวฬุวันขาดผู้อุปถัมภ์และถูกทิ้งร้างอย่างสิ้นเชิงในช่วงพันปีถัดมา

โดยปรากฏหลักฐานบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วงปี พ.ศ. 942 – 947 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ ๒ (พระเจ้าวิกรมาทิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ว่า เมืองราชคฤห์อยู่ในสภาพปรักหักพัง แต่ยังทันได้เห็นมูลคันธกุฎีวัดเวฬุวันปรากฏอยู่ และยังคงมีพระภิกษุหลายรูปช่วยกันดูแลรักษาปัดกวาดอยู่เป็นประจำ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกถึงสถานที่เกิดเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตแต่ประการใด

แต่หลังจากนั้นประมาณ 200 ปี วัดเวฬุวันก็ถูกทิ้งร้างไป ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง (Chinese traveler Hiuen-Tsang) ​ซึ่งได้จาริกมาเมืองราชคฤห์ราวปี พ.ศ. 1300 ซึ่งท่านบันทึกไว้แต่เพียงว่า ท่านได้เห็นแต่เพียงซากมูลคันธกุฎีซึ่งมีกำแพงและอิฐล้อมรอบอยู่เท่านั้น (ในสมัยนั้นเมืองราชคฤห์โรยราถึงที่สุดแล้ว พระถังซำจั๋งได้แต่เพียงจดตำแหน่งที่ตั้งทิศทางระยะทางของสถูปและโบราณสถานเก่าแก่อื่น ๆ ในเมืองราชคฤห์ไว้มาก ทำให้เป็นประโยชน์แก่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีในการค้นหาโบราณสถานต่าง ๆ ในเมืองราชคฤห์ในปัจจุบัน)

จุดแสวงบุญและสภาพของวัดเวฬุวันในปัจจุบัน
ปัจจุบันหลังถูกทอดทิ้งเป็นเวลากว่าพันปี และได้รับการบูรณะโดยกองโบราณคดีอินเดียในช่วงที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ วัดเวฬุวัน ยังคงมีเนินดินโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขุดค้นอีกมาก สถานที่สำคัญ ๆ ที่พุทธศาสนิกชนในปัจจุบันนิยมไปนมัสการคือ “พระมูลคันธกุฎี” ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ทำการขุดค้น เนื่องจากมีกุโบร์ของชาวมุสลิมสร้างทับไว้ข้างบนเนินดิน, “สระกลันทกนิวาป” ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้ทำการบูรณะใหม่อย่างสวยงาม, และ “ลานจาตุรงคสันนิบาต” อันเป็นลานเล็ก ๆ มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่กลางซุ้ม ลานนี้เป็นจุดสำคัญที่ชาวพุทธนิยมมาทำการเวียนเทียนสักการะ (ลานนี้เป็นลานที่กองโบราณคดีอินเดียสันนิษฐานว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในจุดนี้)

จุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา (ลานจาตุรงคสันนิบาต)
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตจะเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งที่เกิดในบริเวณวัดเวฬุวันมหาวิหาร แต่ทว่าไม่ปรากฏรายละเอียดในบันทึกของสมณทูตชาวจีนและในพระไตรปิฎกแต่อย่างใดว่าเหตุการณ์ใหญ่นี้เกิดขึ้น ณ จุดใดของวัดเวฬุวัน รวมทั้งจากการขุดค้นทางโบราณคดีก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการทำเครื่องหมาย (เสาหิน) หรือสถูประบุสถานที่ประชุมจาตุรงคสันนิบาตไว้แต่อย่างใด (ตามปกติแล้วบริเวณที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา มักจะพบสถูปโบราณหรือเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างหรือปักไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับผู้แสวงบญ) ทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถทราบโดยแน่ชัดว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตเกิดขึ้นในจุดใดของวัด

ในปัจจุบันกองโบราณคดีอินเดียได้แต่เพียงสันนิษฐานว่า “เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในบริเวณลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป” (โดยสันนิษฐานเอาจากเอกสารหลักฐานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีพระสงฆ์ประชุมกันมากถึงสองพันกว่ารูป และเกิดในช่วงที่พระพุทธองค์พึ่งได้ทรงรับถวายอารามแห่งนี้ การประชุมครั้งนั้นคงยังต้องนั่งประชุมกันตามลานในป่าไผ่ เนื่องจากเสนาสนะหรือโรงธรรมสภาขนาดใหญ่ยังคงไม่ได้สร้างขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป เป็นลานกว้างลานเดียวในบริเวณวัดที่ไม่มีโบราณสถานอื่นตั้งอยู่) โดยได้นำพระพุทธรูปยืนปางประทานพรไปประดิษฐานไว้บริเวณซุ้มเล็ก ๆ กลางลาน และเรียกว่า “ลานจาตุรงคสันนิบาต” ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริงอยู่ในจุดใด และยังคงมีชาวพุทธบางกลุ่มสร้างซุ้มพระพุทธรูปไว้ในบริเวณอื่นของวัดโดยเชื่อว่าจุดที่ตนสร้างนั้นเป็นลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริง แต่พุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่ก็เชื่อตามข้อสันนิษฐานของกองโบราณคดีอินเดียดังกล่าว โดยนิยมนับถือกันว่าซุ้มพระพุทธรูปกลางลานนี้เป็นจุดสักการะของชาวไทยผู้มาแสวงบุญจุดสำคัญ 1 ใน 2 แห่งของเมืองราชคฤห์ (อีกจุดหนึ่งคือพระมูลคันธกุฎีบนยอดเขาคิชกูฏ)

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา

 การปฎิบัติตนสำหรับพุทธศาสนาในวันนี้ก็คือ การทำบุญ ตักบาตรในตอนเช้า หรือไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด ตอนบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา ในตอนกลางคืน จะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปที่วัดเพื่อชุมนุมกันทำพิธีเวียนเทียน รอบพระอุโบสถ พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์โดยเจ้าอาวาสจะนำว่า นะโม ๓ จบ จากนั้นกล่าวคำ ถวาย ดอกไม้ธูปเทียน ทุกคนว่าตาม จบแล้วเดิน เวียนขวา ตลอดเวลาให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนครบ ๓ รอบ แล้วนำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่ทางวัด เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธี

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)

หลังจากที่เยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่1 ประเทศทั้งประเทศอยู่ในภาวะของความยุ่งเหยิง เปลี่ยนการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐ ต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนที่พ้นวิสัยจะชำระได้ การลุกฮือของคอมมิวนิสต์ “ชปาตาคุส (Spatacus)” จลาจลทั่วประเทศ ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล เงินเฟ้ออย่างหนัก สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้คนเยอรมันร้องหาผู้ที่จะทำให้ประเทศของตนกลับไปรุ่งเรืองอีกครั้งดังสมัยอาณาจักรที่ 2

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์นั้นเดิมไม่ใช่ประชาชนเยอรมนีแต่เป็นออสเตรีย ตอนเด็กใฝ่ฝันจะเป็นศิลปิน แต่สอบเข้าวิทยาลัยศิลปะไม่ได้ เขาเป็นคนที่ไม่มีการศึกษา ช่วงสงครามโลกครั้งที่1 เขาเป็นนายสิบกองทัพบกออสเตรีย หลังสงครามออสเตรียแพ้เช่นเดียวกับเยอรมนี เขาจึงมุ่งหน้าไปแสวงหาโอกาสของชีวิตที่เมืองมึนเช่น (Munchen; หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า Munich) เยอรมนี

ในปี ค.ศ. 1918 ฮิตเลอร์ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเล็กๆพรรคหนึ่งด้วยเหตุผลง่ายๆว่ามัน “เข้าท่า” ซึ่งต่อมาเขาจะทำให้มันยิ่งใหญ่ นั่นคือพรรคสังคมชาตินิยมกรรมาชีพเยอรมัน (National sozialistische Deutsche Abeiterpartei -NSDAP) หรือพรรคนาซีนั่นเอง (Nazi)

ด้วยความสามารถในการพูดโน้มน้าวจิตใจคนและนโยบายของพรรคที่รุนแรงและเด็ดขาด เขาจึงได้รับความนิยมมากจากประชาชนในมึนเช่น เคยพยายามโค่นล้มรัฐบาลกลางที่แบร์ลีน (Berlin) แต่ไม่สำเร็จ และถูกจำคุกอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อพ้นโทษ เขาได้หาเสียงโดยใช้นโยบายก้าวร้าวกับชาวบ้านเยอรมันซึ่งเป็นคนทั่วไปในสังคมที่ไม่พอใจสภาพสังคมที่ไร้ระเบียบและความมั่นคง จนกระทั่งในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง พรรคนาซีได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและขยายความนิยมไปทั่วประเทศด้วยระยะเวลาอันสั้น

หลังวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ.1932 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งครั้งสำคัญของพรรคนาซี เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้พรรคนาซีได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในสภาของจักรวรรดิ เป็นจำนวน37.8% ขณะนั้นประธานาธิบดีของประเทศ คือ จอมพล เพาล ฟอน ฮินเด็นบวร์ก (Paul von Hindenburg) ผู้เป็นวีรบุรษจากสงครามครั้งก่อนได้แต่งตั้งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี และท้ายสุดในปี ค.ศ.1934 ประธานาธิบดีฮินเด็นบวร์กถึงแก่อสัญกรรม ฮิตเลอร์จึงกลายมาเป็นประธานาธิบดีของประเทศ

ตำแหน่งประธานาธิบดีไม่ใช่จุดสูงสุดของฮิตเลอร์ ด้วยอำนาจของ มาตรา 48 รัฐธรรมนูญไวมาร์ (Weimarer Verfassung) ที่ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีระงับการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว และโอนอำนาจนิติบัญญัติและบริหารมาไว้ที่ตัวประธานาธิบดีแต่เพียงผู้เดียว หากเกิดภาวะวิกฤติในประเทศ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่วางหลักการที่ขัดต่อหลักแบ่งแยกอำนาจและสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง ฮิตเลอร์ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในขณะนั้นได้อาศัยช่องทางของบทบัญญัติดังกล่าวยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญและแต่งตั้งตัวเองเป็น “ท่านผู้นำ (Führer)” แห่งอาณาจักร (เยอรมนี) ที่ 3 (Das 3.Reich) โดยอ้างเหตุจากสถานการณ์ไม่สงบต่างๆในประเทศ และเหตุที่พรรคคอมมิวนิสต์ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น

เมื่อเป็นท่านผู้นำแล้ว พวกที่ได้รับผลกระทบจากนาซีมากที่สุดคงหนีไม่พ้นชาวยิวและพวกคอมมิวนิสต์ สำหรับชาวยิวนั้นเป็นที่เข้าใจกันดีว่าเป็นผู้มั่งคั่งในสังคม ควบคุมเศรษฐกิจของชาติ ขณะที่คนเยอรมันยากจนไม่มีอะไรจะกิน ทว่าพวกยิวมีทั้งทองและอัญมณี ส่วนพวกคอมมิวนิสต์นั้น เป็นที่หวาดกลัวของชาวเยอรมันมาก เพราะเห็นตัวอย่างจากการปฏิวัติอันนองเลือดในสหภาพโซเวียต คอมมิวนิสต์นั้นถูกปราบปรามอย่างสิ้นเชิงหลังจากการป้ายความผิดโดยพวกนาซีว่าเป็นพวกวางเพลิงเผารัฐสภา แต่พวกยิวนั้นถูกทำลายล้างไปจนกระทั่งฮิตเลอร์หมดอำนาจหลังจากเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่2

สิ่งที่พวกยิวได้รับจากการทำลายล้างของฮิตเลอร์นั้นมีมากมายเหลือคณานับ เช่น การขับไล่ชาวยิวออกไปจากบ้านแล้วส่งไปอยู่ในสลัม ยึดกิจการของยิวแล้วเอาไปให้ชาวเยอรมัน มีการปลุกระดมให้ชาวบ้านไปเผาทำลายร้านค้าของพวกยิว ทหารหรือชาวบ้านสามารถทำร้ายร่างกาย ข่มขืนกระทำชำเรา หรือฆ่าคนยิวได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หนักกว่านั้นคือเมื่อสงครามเริ่มขึ้น พวกยิวจะถูกส่งตัวไปค่ายกักกันซึ่งมีหลายสิบแห่งนอกประเทศเยอรมนีเพื่อทำงานหนักเยี่ยงทาส คนที่ทำงานไม่ได้ก็จะถูกฆ่า หรือถึงแม้จะทำงานได้ก็ยังมีการคัดเลือกไปฆ่าอีกเช่นกัน ทุกที่ที่ทหารเยอรมันไปถึง ที่เหล่านั้นก็จะกลายเป็นนรกของยิว จนท้ายสุดเมื่อสงครามยุติ คนยิวถูกฆ่าไปกว่า6ล้านคน ซึ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าพวกนาซีสามารถปลูกระดมให้คนเยอรมันเปลี่ยนทัศนคติให้เคียดแค้นคนยิวและลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกยิวลงเพียงผักปลาที่ไร้ค่าอะไรเลย

ส่วนผู้ที่รักความเป็นธรรมและลุกขึ้นมาต่อต้านการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐนั้น จะถูกประณามโดยฝูงชนจำนวนมากที่ถูกฮิตเลอร์ปลุกปั่นและปิดบังความจริง พวกองค์กรที่เป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจของรัฐ อาทิ SS (Schutz Straffel) ซึ่งเป็นกองกำลังสมาชิกพรรคนาซีติดอาวุธ หรือพวกตำรวจลับ Gestapo (Geheimer Staatpolizei) จะตามฆ่าและทำลายล้างผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับท่านผู้นำ ประเทศเยอรมนีในยุคของฮิตเลอร์จึงเป็นอาณาจักรแห่งความกลัวอย่างแท้จริง

สิ่งที่ฮิตเลอร์ทำความประทับใจกับชาวเยอรมัน จนชาวเยอรมันหลงเชื่อ ทึ่ง และประทับใจในตัวฮิตเลอร์จนกระทั่งเป็นม่านหมอกบังตาชาวเยอรมันเองไม่ให้เห็นความจริงอันโหดร้ายที่นาซีทำกับประเทศ คือ การแก้ไขปัญหาคนว่างงาน สร้างทางหลวง(Autobahn) ทั่วประเทศ ตั้งโรงงานรถโฟล์กสวาเก้น (Volkswagen) ซึ่งแปลว่ายานยนต์ของประชาชน และขายให้ประชาชนในราคาถูก สร้างอาคารที่อยู่อาศัยราคาถูกสำหรับประชาชน (Wohnungbau) และนโยบายอื่นๆที่มีลักษณะเอื้ออาทร และที่เด่นที่สุด คือ การยกเลิกจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแก่ประเทศพันธมิตร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น “นโยบายประชานิยม”

สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในเยอรมนีสมัยฮิตเลอร์เรืองอำนาจล้วนเป็นสิ่งที่อันตรายและมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ทุกประเทศไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ฮิตเลอร์นั้นเป็นผู้นำที่มาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญซึ่งนั่นคือตามอำนาจและความชอบธรรมนั่นเอง แต่เมื่อฮิตเลอร์เข้าสู่อำนาจแล้วกลับใช้อำนาจที่ได้มาอย่างถูกต้องไปในทางที่ผิด จนทำให้ชาติเข้าสู่สงครามและล้มละลายในที่สุดทำให้ต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยจึงควรจับตาไม่ให้คนอย่างฮิตเลอร์ปรากฏตัวขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งจนทำความสูญเสียให้แก่ประเทศเหล่านั้นจนยากจะเยียวยา

เยอรมนีไม่ได้มีเพียงนาซีหรือฮิตเลอร์ซึ่งเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา แต่ยังมีสิ่งดีๆอีกมากมายที่เราสามารถศึกษาและนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเป็นชาติที่มีนักดนตรีคลาสสิกมากที่สุดในโลกความเป็นระเบียบวินัยของชาติซึ่งสะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ กฎหมาย หรือนิสัยของประชาชน หรือการผ่านความยากลำบากจนกระทั่งฝ่าฟันไปได้หลายครั้งในประวัติศาสตร์ เช่น การรวมชาติในปี ค.ศ.1990 ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกที่รวมคนชาติเดียวกันแต่ถูกแบ่งแยกทางลัทธิระหว่างประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์โดยไม่เสียเลือดเนื้อ

 

พระพรหมังคลาจารย์ หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปคือ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ  เจ้าอาวาส วัดชลประทานรังสฤษฏ์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2454 (ตรงกับรัชกาลที่ 6) ตลอดชีวิตสมณเพศ หลวงพ่อปัญญาสอนให้เข้าถึงถึงธรรมโดยใช้ปัญญาพิจารณา และเทศนาต่อต้านมารร้ายที่หากินกับศาสนาโดยใช้พิธีกรรมต่างๆเพื่อดึงดูดคนเข้าวัดเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวพุทธส่วนใหญ่งมงาย หลงทาง จนคิดว่าสิ่งนั้นเป็นของพุทธศาสนา ด้วยเหตุดังกล่าววัดชลประทานฯ จึงมีพระพุทธรูปเพียงเพื่อพอเป็นพิธี ไม่มีการจุดธูปเทียน ไม่ให้ยึดติดกับอามิสบูชาต่างๆ

          ส่วนลานธรรมรูปวงกลมภายในวัด มีต้นแบบมาจากสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา สุราษฏร์ธานีของท่านพุทธทาส ที่ให้การแสดงธรรมภายในวัดเป็นแบบเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติ เช่นเดียวกับสมัยพุทธกาล เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการสร้างศาลาอาคารต่างๆ และภายในวัดชลประทานจะมีอาคารเท่าที่จำเป็นแก่ศาสนกิจเท่านั้น

          ขณะที่พระที่บวชในช่วงฤดูร้อนจะมีกฏของทางวัด โดยให้พ่อแม่และญาติโยมมาเยี่ยมได้เฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น และในช่วงเวลาจำกัด ห้ามพูดคุยขณะฟังธรรมและฉันอาหาร

          อนึ่ง วัดชลประทานรังสฤษฏ์ สร้างโดยกรมชลประทาน ตั้งอยู่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ในปี 2530 ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทานสมัยนั้น ได้นิมนต์ท่านปัญญานันทะจากวัดอุโมงค์ จ. เชียงใหม่ มาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นวัดสร้างใหม่ที่มีบรรยากาศร่มรื่นมีสภาพแวดล้อมที่ดี เหมาะสำหรับการศึกษาธรรมะในทุกเพศทุกวัย

ประวัติหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

          พระพรหมังคลาจารย์ หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปคือ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ถือกำเนิดที่ตำบลคูหาสวรรค์ อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2454 เดิมมีนามว่า ปั่น เสน่ห์เจริญ หลังใช้ชีวิตฆราวาสจนมีอายุได้ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอุปนันทนาราม จ.ระนอง โดยมีพระระณังคมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดนางลาด อ.เมือง จ.พัทลุง โดยมีพระจรูญกรณีย์เป็นอุปัชฌาย์เมื่อปี พ.ศ.2474

          หลังจากอุปสมบทได้ไม่นาน ได้เดินทางไปศึกษาหาหลักธรรมในบวรพุทธศาสนาหลายจังหวัดที่มีสำนักเรียนธรรมะ เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา และกรุงเทพมหานคร จนหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นที่ 1 ของสังฆมณฑลภูเก็ต และสามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท และเอกในปีถัดมาที่ จ.นครศรีธรรมราช จากนั้นท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อด้านภาษาบาลีจนสามารถสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค ที่สำนักเรียนวัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้หลวงพ่อต้องหยุดการศึกษาไว้เพียงเท่านั้น แล้วเดินทางกลับพัทลุงภูมิลำเนาเดิมและได้เริ่มแสดงธรรมในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้ รวมทั้งเดินทางไปจำพรรษาที่วัดสีตวนารามและวัดปิ่นบังอร รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่นี้ก็ได้ศึกษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน เพื่อเป็นพื้นฐานในการเผยแพร่ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป

          ปี พ.ศ.2475 หลวงพ่อมีโอกาสร่วมเดินทางไปประเทศพม่า กับพระโลกนาถชาวอิตาลีสหายธรรม ร่วมเดินทางแสวงบุญไปประเทศอินเดียและทั่วโลกโดยผ่านทางประเทศพม่าด้วยเท้าเปล่าเพื่อเป็นพุทธบูชา แต่เมื่อเดินทางถึงประเทศพม่าก็ต้องเดินทางกลับ

          ระหว่างปี พ.ศ.2475-2476 หลวงพ่อได้มีโอกาสเดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศหลายประเทศ จนหลวงพ่อได้ชื่อว่า เป็นพระสงฆ์รูปแรกของไทยที่ได้เดินทางไปประกาศธรรมในภาคพื้นยุโรป

          ปี พ.ศ.2477 หลวงพ่อได้เดินทางไปจำพรรษากับพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และร่วมเป็นสหายธรรมดำเนินการเผยแพร่หลักธรรมที่แท้จริงตามหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

          ในปี พ.ศ.2492 หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ได้รับอาราธนานิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ และได้เริ่มแสดงธรรมในทุกวันอาทิตย์และวันพระที่พุทธนิคม จ.เชียงใหม่ พร้อมกันนี้หลวงพ่อได้เขียนบทความต่างๆ ลงในหนังสือพิมพ์และเขียนหนังสือธรรมะขึ้นจำนวนหลายเล่ม นอกจากนี้ หลวงพ่อได้เดินทางไปประกาศธรรมแก่ชาวบ้าน ชาวเขาโดยใช้รถติดเครื่องขยายเสียง จนชื่อเสียงของหลวงพ่อดังกระฉ่อนไปทั่ว จ.เชียงใหม่ ในนาม “ภิกขุปัญญานันทะ”

          ในยุคนี้เองที่หลวงพ่อได้ก่อตั้งมูลนิธิ “เมตตาศึกษา” ที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ และบำเพ็ญศีล กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกมากมาย

          ในปี พ.ศ.2502 ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน ในสมัยนั้น ระหว่างที่ไปเยือนเชียงใหม่มีความประทับใจ ในลีลาการสอนธรรมะแนวใหม่ของหลวงพ่อ จึงเกิดความศรัทธาปสาทะในพลวงพ่อ และในขณะนั้นกรมชลประทานได้สร้างวัดใหม่ขึ้น ชื่อ “วัดชลประทานรังสฤษฎ์” ที่ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จึงได้อาราธนาหลวงพ่อไปเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ.2503 จนถึงปัจจุบัน

          พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ได้ดำเนินการเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยวิธีที่ท่านได้เริ่มปฏิวัติรูปแบบการเทศนาแบบดั้งเดิมที่นั่งเทศนาบนธรรมาสน์ถือใบลาน มาเป็นการยืนพูดปาฐกถาธรรมแบบพูดปากเปล่าต่อสาธารณชน พร้อมทั้งยกตัวอย่างเหตุผลร่วมสมัย ทันต่อเหตุการณ์ เป็นการดึงดูดประชาชนให้หันเข้าหาธรรมะได้เป็นเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงแรกๆ ได้รับการต่อต้านอยู่บ้าง แต่ต่อมาภายหลังการปาฐกถาธรรมแบบนี้กลับเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปจนถึงบัดนี้ เมื่อพุทธศาสนิกชนทราบข่าวว่า หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุจะไปปาฐกถาธรรมที่ใดก็จะติดตามไปฟังกันเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดหลวงพ่อได้รับอาราธนาให้เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมในสถานที่ต่างๆ และเทศนาออกอากาศทั้งทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆด้วย

          นอกจากนี้ หลวงพ่อยังได้รับอาราธนาไปแสดงธรรมในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น และยังได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมและกล่าวคำปราศรัยในการประชุมองค์กรศาสนาของโลกเป็นประจำอีกด้วย

          โดยที่หลวงพ่อท่านเป็นพระมหาเณรผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทย ได้สร้างงานไว้มากมายทั้งด้านศาสนาสังคมสงเคราะห์ตลอดจนงานด้านวิชาการ ดังนั้นหลวงพ่อจึงได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลเกรียรติคุณมากมาย และเป็นประธานในการดำเนินกิจกรรมทั้งที่เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและสังคม เช่น สนับสนุนโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดน เป็นประธานจัดหาทุนสร้างตึกโรงพยาบาล กรมชลประทาน 80 ปี (ปัญญานันทะ) และเป็นประธานในการดำเนินการจัดหาทุนสร้างวัดปัญญานันทาราม ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ แม้ว่าคำสอนของหลวงพ่อจะเป็นคำสอนที่ฟังง่ายต่อการเข้าใจ แต่ลึกซึ้งด้วยหลักธรรมและอุดมการณ์อันหนักแน่นในพระรัตนตรัย หลวงพ่อปัญญานันทภิภขุ เป็นหนึ่งในบรรดาภิกษุผู้มีชื่อเสียง และเปี่ยมด้วยคุณธรรมเมตตาธรรม ผู้นำคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งเหมาะสมสำหรับชนทุกชั้นที่จะเข้าถึง หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่กล้าในการปฏิรูปพิธีกรรมทางศาสนา ของชาวไทยที่ประกอบพิธีกรรมหรูหรา ฟุ่มเฟือย โดยเปลี่ยนเป็นประหยัด มีประโยชน์และเรียบง่าย ดังนั้น หลวงพ่อจึงได้รับการขนานนามว่า “ผู้ปฏิรูปพิธีกรรมของชาวพุทธไทย”

          พระพรหมมังคลาจารย์ หรือ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เข้ารักษาอาการอาพาธ  ที่ตึกอัษฎางค์ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 และมรณภาพ เมื่อ 9 นาฬิกา วันที่ 10  ตุลาคม 2550  ด้วยอาการปอดอักเสบและไตวายเฉียบพลัน ซึ่ง ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช  แถลงว่า หลวงพ่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ด้วยอาการหน้ามืด วูบและแน่นหน้าอก เนื่องจากมีโรคประจำตัวคือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันมาก่อน แพทย์ได้ขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน ทำให้หลวงพ่อมีอาการดีขึ้น

          หลังจากนั้นวันที่ 5 ตุลาคม 2550 พบว่าหลวงพ่อมีอาการติดเชื้อ เริ่มมีอาการไอ มีเสมหะ หลังทำการเอ็กซเรย์ปอดพบว่าปอดอักเสบและติดเชื้อ ต้องให้ยาปฏิชีวนะ จากนั้นการทำงานของไตเริ่มแย่ลง ซึ่งหลวงพ่อเคยมีประวัติโรคไตและโรคเบาหวานอยู่แล้ว จนกระทั่งเมื่อค่ำวันที่ 9 ตุลาคม 2550  หลวงพ่อหัวใจหยุดเต้น 1 ครั้ง แพทย์ได้ปั๊มหัวใจช่วยจนกลับมาเป็นปกติ  กระทั่งเช้า 9  นาฬิกา  วันที่ 10  ตุลาคม 2550  หลวงพ่อปัญญาก็ได้มรณภาพด้วยอาการปอดอักเสบและไตวายเฉียบพลัน สิริรวมอายุได้ 97 ปี

ผลงานและเกียรติคุณหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

งานด้านการปกครอง
-พ.ศ.2503 เป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์
-พ.ศ.2506 ได้รับพระบัญชา แต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
-เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 9
-เป็นรองเจ้าคณะภาค 18
-พ.ศ.2515 เป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธธรรม ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

งานด้านการศึกษา
-พ.ศ.2503 เป็นเจ้าสำนักศาสนาศึกษา แผนกธรรมและบาลีวัดชลประทานรังสฤษฏ์
-พ.ศ.2512 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ ระดับอนุบาล ประถม มัธยมศึกษา
-พ.ศ.2524 เป็นผู้อำนวยการจัดการการอบรมพระธรรมทายาทของวัดชลประทานรังสฤษฏ์
-เป็นผู้อำนวยการจัดการอบรมพระนวกะที่บวชในวัดชลประทานรังสฤษฏ์

งานด้านการเผยแผ่
-พ.ศ.2492-2502 เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมประจำวันพระและวันอาทิตย์ ณ พุทธนิคม สวนพุทธธรรม วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่
-พ.ศ.2500 เป็นประธานมูลนิธิ “ชาวพุทธมูลนิธิ” จังหวัดเชียงใหม่
-เป็นประธานก่อตั้งพุทธนิคม จ.เชียงใหม่
-พ.ศ.2503 เป็นองค์แสดงธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์
-เป็นผู้ริเริ่มการทำบุญ ฟังธรรมในวันอาทิตย์ ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์
-เป็นผู้ก่อตั้งทุนพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน พ.ศ.2520
-เป็นผู้อบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา
-พ.ศ.2525 รับเป็นองค์แสดงธรรมแก่วุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
-พ.ศ.2534 เป็นผู้ริเริ่ม “ค่ายคุณธรรมแก่เยาวชน” ในโรงเรียนต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ฯลฯ
-พ.ศ.2536 จำพรรษา ณ วัดพุทธธรรม ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

การปฏิบัติศาสนากิจในต่างประเทศ
-พ.ศ.2497 เดินทางเผยแผ่ธรรมรอบโลก
-ช่วยเหลือกิจการพุทธศาสนา เผยแผ่ธรรมะในต่างประเทศ คือ ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมัน
-เป็นเจ้าอาวาสววัดพุทธธรรม วัดไทยในชิกาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

งานด้านสาธารณูปการ
-พ.ศ.2516 เป็นประธานในการก่อสร้างกุฏิสี่เหลี่ยม เพื่อเป็นที่อยู่แก่พระภิกษุผู้บวชใหม่
-พ.ศ.2518 เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนพุทธธรรม
-เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
-พ.ศ.2537 เป็นประธานก่อสร้างกุฏิสองหลังเป็นกุฏิทรงไทยประยุกต์

งานด้านสาธารณประโยชน์
-พ.ศ.2533 เป็นประธานหาทุนสร้าง “ตึก 80 ปี ปัญญานันทะ” ให้โรงพยาบาลชลประทานรังสฤษฏ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
-สร้างศูนย์ฝึกและปฏิบัติงาน มูลนิธิแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
-พ.ศ.2534 บริจาคเงินสร้างอุโบสถวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) จ.เชียงใหม่
-พ.ศ.2537 บริจาคเงินสร้างโรงอาหารแก่โรงเรียนประภัสสรรังสิต อ.เมือง จ.พัทลุง
-บริจาคเงินซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลวชิระ จ.ภูเก็ต
-เป็นประธานหาทุนสร้างวัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี
-บริจาคเงินเป็นทุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นที่ขาดแคลนต่างๆ หลายจังหวัด

งานพิเศษ
-พ.ศ.2503 เป็นองค์แสดงธรรมถวายสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน
-พ.ศ.2518 เป็นองค์แสดงธรรมถวายสมเด็จพรเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ณ ศาลาการเปรียญ วัดชลประทานรังสฤษฏ์
-เป็นองค์แสดงธรรมถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และ พระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดีอันมีศักดิ์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
-เป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทแก่ช่าวต่างประเทศ ที่อุปสมบทในประเทศไทย เช่น ชาวอเมริกัน อังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมัน ญี่ปุ่น และศรีลังกา เป็นต้น
-พ.ศ.2529 ได้รับนิมนต์เข้าร่วมประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์อาเชี่ยนเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ 7 ที่ประเทศประชาธิปไตยประชาชนลาว (12th Asain Buddist Conference for Peace)
-พ.ศ.2536 ได้รับนิมนต์ไปร่วมประชุมและบรรยาย ในการประชุมสภาศาสนาโลก 1993 ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา (The 1993 Parliament of the world’s Religion)

งานด้านวิทยานิพนธ์
ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น
1.ทางสายกลาง
2.คำถามคำตอบพุทธศาสนา
3.คำสอนในพุทธศาสนา
4.หน้าที่ของคนฉบับสมบูรณ์
5.รักลูกให้ถูกทาง
6.ทางดับทุกข์
7.อยู่กันด้วยความรัก
8.อุดมการณ์ของท่านปัญญา
9.ปัญญาสาส์น
10.ชีวิตและผลงาน
11.มรณานุสติ
12.ทางธรรมสมบูรณ์แบบ
13.72 ปี ปัญญานันทะ เป็นต้น

เกียรติคุณที่ได้รับ
-พ.ศ.2520 ได้รับรางวัล “สังข์เงิน” จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ในฐานะพระภิกษุผู้เผยแผ่ธรรมะและศีลธรรมยอดเยี่ยมของประเทศไทย
-พ.ศ.2521 ได้รับรางวัล “นักพูดดีเด่น” ประเภทเผยแผ่ธรรม จากสมาคมฝึกพูดแห่งประเทศไทย
-พ.ศ.2525 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระศาสนา เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จากกรมการศาสนา โดยได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณ 2 รางวัล คือ ประเภท ก.บุคคล และประเภท ข.สื่อสารมวลชน (รายการส่งเสริมธรรมะทางสถานีวิทยุโทรทัศน์)
-พ.ศ.2524 ได้รับปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ จาก มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
-พ.ศ.2531 ได้รับปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง
-พ.ศ.2534 ได้รับปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรจน์
-พ.ศ.2536 ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-พ.ศ.2536 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปรัชญาและศาสนา) จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
-พ.ศ.2537 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สมณศักดิ์ที่ได้รับ
-วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2499 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ “พระปัญญานันทมุนี”
-วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นราช ที่ “พระราชนันทมุนี”
-วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ “พระเทพวิสุทธิเมธี”
-วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2537 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ “พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก สาธกธรรมภาณ วิสาลธรรมวิภูษิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

          พระพรหมังคลาจารย์ หรือที่ชาวพุทธรู้จักกันดีในนาม “หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ” ได้อุทิศชีวิตและร่างกายเป็นพุทธบูชา แด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธศาสนา แม้ว่าหลวงพ่อจะมีอายุมากแล้ว แต่หลวงพ่อยังคงทำงานอย่างหนักและต่อเนื่อง ในการรณรงค์ให้ชาวพุทธไทยได้เป็นชาวพุทธที่แท้จริง โดยให้ละทิ้งจากความเชื่องมงาย ตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงพ่อเน้นเสมอในแก่นแท้ของพระศาสนา และความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาอื่นๆ

          ดังนั้น หลวงพ่อจึงกล้าพูดความจริงทุกกาลเทศะ และสนับสนุนคนดีตลอดมา หลวงพ่อจึงเป็นที่ยอมรักจากทุกชุมชน ทั่วทุกมุมโลกที่มีชาวพุทธอยู่อาศัย กราบนมัสการ

ประวัติ

พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๕๔ เมื่อเวลา ๐๗.๒๐ น. ในเรือ ที่ลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบ้านม้า อำเภออินทบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นโอรสของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบกับหม่อมแดง (บุนนาค)

เริ่มการศึกษาขั้นต้น ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (วังหลัง) โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นไปศึกษาต่อที่โรงเรียน Trent College และศึกษาวิชาปรัชญาเศรษฐศาสตร์และการเมืองที่ The Queen’s College มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ สำเร็จปริญญาตรีเกียรตินิยม และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดต่อมาได้รับปริญญาวารสารศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เริ่มเข้ารับราชการที่กรมสรรพากร ซึ่งต่อมาเป็นเลขานุการที่ปรึกษากระทรวงการคลัง และเข้าทำงานเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง เมื่อเกิดสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้เข้ารับราชการทหารได้รับยศนายสิบตรี ต่อจากนั้นรัฐบาลได้ตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ได้เข้าทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายสำนักผู้ว่าการและหัวหน้าฝ่ายออกบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย และยังเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศเป็นพลตรี (ทหารราชองครักษ์พิเศษ) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกในเมืองไทยชื่อ “พรรคก้าวหน้า” เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๘๘ – ๒๔๘๙ ต่อจากนั้นได้ร่วมในคณะผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์  และได้ริเริ่มจัดตั้งพรรคกิจสังคม ในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๘ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตพระนคร ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่สามารถเข้าบริหารประเทศได้ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้ความเห็นชอบตามนโยบายพรรคกิจสังคมซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๑๘ คน โดยการนำของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น และได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๑๘

ในขณะที่บริหารประเทศ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ดำเนินการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง ตามนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และเป็นมิตรกับทุกประเทศที่มีเจตนาดีต่อประเทศไทย โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองในด้านการพัฒนาประเทศ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เริ่มโครงการผันเงินสู่ชนบท เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่และสร้างงานในชนบท โดยการผันเงินจากงบประมาณรายจ่าย เพื่อปรับปรุงและสร้างสิ่งสาธารณูปโภคที่จำเป็นในชนบท มีผลให้ประชาชนในชนบทมีงานทำและมีรายได้ เป็นการยกฐานะทางเศรษฐกิจของชาวชนบทให้ดีขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาสภาตำบลอย่างจริงจัง รวมทั้งจัดให้มีโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และได้ดำเนินการซื้อสัมปทานเดินรถของเอกชนมารวมเป็นของรัฐบาลภายใต้การดำเนินงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

จากการที่รัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค จึงทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร ต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองหลายประการ ในที่สุดหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงได้ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๑๙ รวมระยะเวลาที่บริหารประเทศประมาณ ๙ เดือนเศษ

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคม และได้ยุติบทบาททางการเมือง และใช้ชีวิตสงบเงียบ ณ บ้านพักซอยสวนพลู กรุงเทพมหานคร นอกจากบางโอกาสที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยการให้สัมภาษณ์ หรือโดยการเขียนบทความลงในคอลัมน์ “ซอยสวนพลู” พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๘ ณ โรงพยาบาลสมิติเวช รวมอายุได้ ๘๔ ปีเศษ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช 

 พระราชประวัติ


                         สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กับพระอัครมเหสี  ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๕  เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาทั้งด้านวิชาการ การกีฬา การล่าสัตว์  การขี่มา ขี่ช้าง และการแข่งเรือ  พระองค์มีแม่นม ๒  คน คอยดูแลอภิบาล  คือ  เจ้าแม่วัดดุสิตซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก)  และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตผู้มีชื่อเสียง แม่นมอีกคนหนึ่ง เป็นมารดาของพระเพทราชา พ.ศ. 2198   พระเจ้าปราสาททองประชวรหนักจึงทรงมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าชัย พระโอรสองค์โต ซึ่งประสูติจากพระสนม เจ้าฟ้าชัยครองราชย์ได้ประมาณหนึ่งปี   ก็ถูกปลงพระชนม์โดยพระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอา พระอนุชา จากนั้นพระศรีสุธรรมราชาก็ขึ้นครองราชย์  และแต่งตั้งให้พระนารายณ์เป็นพระมหาอุปราชวังหน้า   หลังจากนั้นประมาณ  ๒  เดือนพระนารายณ์ก็ได้ปลงพระชนม์สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา  เนื่องจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาคิดจะเอาเจ้าฟ้าหญิงศรีสุวรรณหรือพระกนิษฐภคินีร่วมพระชนนีของพระนารายณ์มาเป็นพระชายา  หลังจากนั้นพระนารายณ์ก็เสด็จขึ้นครองราชย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๔ ของพระราชวงศ์ปราสาททอง  ใน พ.ศ. ๒๑๙๙  ขณะพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา  ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์  แต่คนทั่วไปนิยมเรียก  สมเด็จพระนารายณ์  กรุงศรีอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  มีความเจริญรุ่งเรืองมาก

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

              – การลดส่วยและงดเก็บภาษีอากรจากราษฎรเป็นเวลา ๓ ปีเศษ

                       – การประกาศใช้กฎหมายพระราชกำหนดและกฎหมายเพิ่มเติมลักษณะรับฟ้อง

                       – การส่งเสริมงานด้านวรรณกรรม  หนังสือที่แต่งในสมัยนี้  เช่น  สมุทรโฆษคำฉันท์ โคลงทศรถสอนพระราม  โคลงพาลี-สอนน้อง  โคลงราชสวัสดิ์  เพลงพยากรณ์กรุงเก่า  เพลงยาวบางบท  รวมถึงวรรณกรรมชิ้นสำคัญ  คือ  โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ นับเป็น  ยุคทองแห่งวรรณกรรม  ของไทยยุคหนึ่ง

                       – การทำศึกสงครามกับเชียงใหม่และพม่า พ.ศ.๒๒๐๓  และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ลงมาอยุธยาด้วย

                       – ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศนั้น  เจริญรุ่งเรืองมาทั้งประเทศตะวันออก เช่น จีน อินเดีย และประเทศตะวันตกที่สำคัญ ได้แก่ โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส  ทั้งด้านการเชื่อมสัมพันธไมตรีและการป้องกันการคุกคามจากชาติต่างๆ เหล่านี้จากพระราชกรณียกิจต่างๆ ดังกล่าว  จึงทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง อีกทั้งในรัชสมัยของพระองค์ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรมยุคหนึ่งด้วย  สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๒๓๑  ที่เมืองลพบุรี ราชธานีแห่งที่สองที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น